สี่ตัวอักษรที่ต้องตั้งตารอ
แม้ว่าในขณะนี้หลายประเทศได้คลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่การระบาดของไวรัสโคโรนาได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงไปทั่วโลกแล้ว มีคนตกงานจำนวนหลายล้านคน ตลาดการเงินซวนเซ และซัพพลายเชนหยุดชะงัก สองคำถามที่ผุดขึ้นในหัวของทุกคนในยามนี้ คือเศรษฐกิจจะถดถอยรุนแรงเพียงไร ? และจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ?
พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)
แม้ว่าในขณะนี้หลายประเทศได้คลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่การระบาดของไวรัสโคโรนาได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงไปทั่วโลกแล้ว มีคนตกงานจำนวนหลายล้านคน ตลาดการเงินซวนเซ และซัพพลายเชนหยุดชะงัก สองคำถามที่ผุดขึ้นในหัวของทุกคนในยามนี้ คือเศรษฐกิจจะถดถอยรุนแรงเพียงไร ? และจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ?
คำตอบของสองคำถามนี้จะเกี่ยวข้องกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัว นั่นคือ ตัวยู ตัววี ดับเบิลยูและตัวแอล ซึ่งเป็นรูปกราฟที่มักได้เห็นในช่วงที่เกิดภาวะถดถอยเมื่อนักเศรษฐศาสตร์ ติดตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราผลผลิตอุตสาหกรรม
ภาวะถดถอยรูปตัววี (V-shaped) ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำอย่างรุนแรงแต่เมื่อถึงจุดต่ำสุดแล้ว จะฟื้นตัวตามมาอย่างรวดเร็ว โดยภาวะถดถอยจะกินเวลาเพียงไม่กี่ไตรมาสก่อนที่จะกลับมาโตอย่างรวดเร็ว โดยทำให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่ในระดับก่อนที่จะเกิดการถดถอย
ตัวอย่างของภาวะถดถอยในรูปวีเชฟเกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อปี 2496 เมื่อเศรษฐกิจบูมหลังสงครามโลกครั้งที่สองด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง หลังจากที่การเติบโตที่ลดลงมาก ฟื้นตัวอีกครั้งในเวลาหนึ่งปีต่อมา
ภาวะถดถอยรูปตัวยู (U-shaped) คล้ายกับภาวะถดถอยรูปตัววีแต่กินเวลานานกว่า ในสถานการณ์นี้ จีดีพีมักหดตัวหลายไตรมาสติดต่อกัน และกลับมาโตสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตอย่างช้า ๆ เท่านั้น
อเมริกาเคยเกิดภาวะถดถอยรูปตัวยูเมื่อต้นถึงกลางปี ค.ศ. 1970 ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1973 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มหดตัวอย่างรุนแรงและมีการเติบโตต่ำต่อเนื่องเกือบสองปี โดยกลับมามีอัตราการขยายตัวเท่าก่อนหน้าในปี ค.ศ. 1975
ภาวะถดถอยรูปตัวดับเบิลยู (W-shaped) เป็นภาวะถดถอยที่เริ่มขึ้นเหมือนมันจะตกต่ำเป็นรูปตัววี แต่จากนั้นได้ถดถอยลงอีกครั้งหลังจากที่มีสัญญาณการฟื้นตัวปลอม ภาวะถดถอยเช่นนี้บางครั้งเรียกว่า ภาวะถดถอยซ้ำซ้อน (double-dip recession) เนื่องจากเศรษฐกิจโตลดลงสองเท่าก่อนที่จะฟื้นตัวสู่ระดับการเติบโตในช่วงก่อนเกิดวิกฤต
ภาวะถดถอยของสหรัฐฯ เมื่อต้นปีค.ศ. 1980 เป็นภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นสองครั้ง โดยเศรษฐกิจหดตัวตั้งแต่เดือนมกราคม 1980 จนถึง เดือนกรกฎาคมปีนั้น และตามมาด้วยการขยายตัวรุนแรงก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาถดถอยในเวลาหนึ่งปีต่อมาและฟื้นตัวอีกครั้งก็ต่อเมื่อถึงปลายปี 1982
ภาวะถดถอยรูปตัวแอล (L-shaped) เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายสุด ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า “depression” เศรษฐกิจจะถดถอยอย่างรุนแรงและไม่สามารถฟื้นตัวไปสู่ระดับการเติบโตในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเป็นเวลาหลายปี
ทศวรรษที่หายไป (lost-decade) ของญี่ปุ่นเมื่อปีค.ศ. 1990-99 เป็นตัวอย่างในตำราเรียนของภาวะถดถอยแบบรูปตัวแอล เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตจากสงครามโลกครั้งที่สองอย่างแข็งแกร่งโดยทันทีเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งถึงปีค.ศ. 1980 และนั่นทำให้ มีการกำหนดราคาสินทรัพย์สูงมากเกินจริง หรือเกิด “ฟองสบู่” แต่เมื่อฟองสบู่แตกในช่วงต้นค.ศ. 1990 การเติบโตของญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอและไม่กลับไปสู่ระดับที่มีการขยายตัวในช่วงปีค.ศ. 1950-1990
ต้องตั้งตารอดูอย่างจดจ่อว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยแบบตัวอักษรอะไร แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ในขณะนี้มีเสียงเตือนจากมอร์แกน สแตนลีย์ว่า ในขณะนี้ นักลงทุนควรจะรักษาพอร์ตให้มีความเสี่ยงต่ำและคงโพสิชั่นแบบตั้งรับเอาไว้ในขณะเดียวกันให้มองหาโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าในภาวะแวดล้อมที่มีความผันผวนสูงมาก
อย่างไรก็ดี มี “สัญญาณไม่ค่อยดี” ในเวลานี้ว่า “ความกลัวที่จะพลาดโอกาส” หรือ “ความโลภ” กำลังจะมีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวในตลาดในช่วงนี้ นักลงทุนกำลังปฏิเสธความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นจริงต่อเศรษฐกิจโลก และพฤติกรรมเช่นนี้ชี้ว่า ผู้คนกำลังคิดว่าสิ่งต่าง ๆ จะกลับสู่ภาวะปกติค่อนข้างรวดเร็ว
แนวโน้มที่ทางการจะคลายมาตรการล็อกดาวน์ทำให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกแต่มอร์แกน สแตนลีย์เตือนว่า ความเสียหายที่แท้จริงจะเริ่มเห็นได้ในช่วงต่อไป โดยเริ่มต้นด้วยการล้มละลายที่เกิดขึ้นจริง หรืออย่างน้อยที่สุดก็มีการลดเกรดบริษัทต่าง ๆ และตลาดน่าจะมีปฏิกิริยาตามมา