การบินไทยหลังล้มละลาย
แนวโน้มที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายนั้นสูงมาก นี่เป็นการเปิดทางกว้างโดยรัฐบาลชี้ช่องเสียเอง
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
แนวโน้มที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายนั้นสูงมาก นี่เป็นการเปิดทางกว้างโดยรัฐบาลชี้ช่องเสียเอง
ปฏิบัติการที่ THAI จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายนั้น เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลมองเห็นว่า แผนฟื้นฟูที่เสนอมาทั้งหมดของบริษัท 23 เรื่องไม่น่าช่วยให้รอดจริงจัง และอาจจะทำให้การขอให้กระทรวงคลังค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาทสูญเปล่า
นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ที่ถนัดกับการแสวงหา “แพะรับบาป” ตามความถนัดของอดีตอัยการจึงไม่ลังเลที่จะออกมาประกาศว่าแพะที่ต้องรับบาป หนีไม่พ้นคนหน้าเดิมที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
ตัวอย่างที่โดดเด่นคือกรณีเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 3 ลำ และแอร์บัส A340-600 จำนวน 6 ลำ ที่จอดทิ้งไว้เป็นภาระทางบัญชีของ THAI มานานเกือบ 10 ปี ก็ซื้อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณเพื่อบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์กซึ่งปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว) วงเงินเกือบ 1 แสนล้านบาท
นายถาวรบอกว่าแผนเลหลังเครื่องบินดังกล่าวใน 7 เดือน ไม่น่าเชื่อถือ เพราะนอกจากสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องไวรัสโควิด-19 แล้ว เครื่องบินมีราคาตามมูลค่าทางบัญชี (Book Value) สูง แต่ราคาจริงเหลือไม่ถึง 10% ดังนั้นไม่มีใครกล้าเซ็นขาย และไม่มีคนซื้อแน่นอน
หลังจากค้นพบ “แพะรับบาป” แล้ว นายถาวรก็ไม่ยอมสำรวมอาการอีก สวมวิญญาณนักกฎหมายเต็มที่เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย (โดยจงใจที่จะไม่พูดถึงต้นทุนความเสียหายจากปรับเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว อ้างว่าหากการบินไทยต้องเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะล้ม เพราะวัตถุประสงค์ในการใช้ พ.ร.บ.ล้มละลายนั้นเพื่อรักษามูลค่าขององค์กรไว้เป็นหนึ่งเดียว แทนที่จะถูกแยกจำหน่ายเป็นส่วน ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าของกิจการลดลงและเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างยุติธรรมและเสมอภาค ส่วนลูกหนี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป และรักษาสภาพการจ้างงานไว้
ถ้าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภายในเดือนกรกฎาคม THAI น่าจะช่วงชิงจังหวะขอยื่นเรื่อง “ล้มตัวเอง” ต่อศาลล้มละลายกลาง ก่อนที่งบการเงินไตรมาสสองของปีจะประกาศ เป้าหมายคือ จัดการชำระสะสางหนี้สินของกิจการที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ ก่อนเข้าสู่ขบวนการฟื้นฟูกิจการ
การช่วงชิงยื่นขอล้มละลายดังกล่าว จะทำพร้อมกับการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู เพื่อเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้ ในการต่อรองเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะพักการซื้อขายในตลาดหุ้นชั่วคราวจนกว่าจะสามารถเจรจาออกจากแผนสำเร็จ
วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ อาจจะมีการเจรจาเรื่องการชำระหนี้ในอนาคต นับแต่การจ่ายดอก งดจ่ายเงินต้นชั่วคราว หรือลดต้น ลดดอก หรือ ยืดอายุชำระ ฯลฯ พร้อมกับการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม แล้วเพิ่มทุนใหม่ทั้งให้กับผู้ถือหุ้นเดิม หรือหาพันธมิตรใหม่ ซึ่งหากบรรดาเจ้าหนี้รายใหม่ยินยอม ก็ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อออกจากแผนฯ
ประเด็นของ THAI ในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้น ยังมีคำถามอีกว่าหากหลังการเพิ่มทุนรอบใหม่ บริษัทจะรักษาฐานะการเป็นรัฐวิสาหกิจเอาไว้ต่อไปได้หรือไม่หลังจากผลการประนอมหนี้ทำให้ศาลเห็นชอบกับการประนอมหนี้ได้ แล้วพ้นจากการล้มละลาย โดยผูกพันชำระหนี้ตามเงื่อนไขในคำขอ
แน่นอนว่า THAI น่าจะผ่านขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น สามารถประนอมหนี้ก่อนล้มละลายได้ สิ่งที่เลวร้ายสุดคือ ล้มเหลวในการเจรจาประนอมหนี้ จนศาลล้มละลายจะพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แล้วถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเริ่มการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ ด้วยวิธีการขายทอดตลาด นำเงินที่ได้มาแบ่งชำระให้แก่บรรดา เจ้าหนี้ต่อไป ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะว่าหนี้สินของ THAI เกือบทั้งหมด ค้ำประกันโดยรัฐบาลไทย
ในกรณีที่ THAI จะสามารถพ้นจากกระบวนการล้มละลาย ไม่ว่าจะด้วยการประนอมหนี้หลังล้มละลาย การยกเลิกล้มละลาย และการปลดจากล้มละลาย หรือการปลดโดยคำสั่งศาลหรือโดยผลของกฎหมาย โดยเฉพาะการปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมาย คำถามจะตามมาคือ ความสามารถของกิจการในการทำกำไรในอนาคตจะดีขึ้นมากหรือน้อย
คำถามดังกล่าว นักลงทุนที่ “ติดดอย” กับราคาหุ้นTHAI คงต้องทำใจรับสภาพกันมากกว่าระดับสามัญ