การบินไทยกับปตท.

มีข่าวไม่ดีมาทั้งคู่ สำหรับ 2 รัฐวิสาหกิจไทย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ฐานะการเงินเข้าขั้นวิกฤต และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มาเจอเอากับผลประกอบการขาดทุนเป็นครั้งแรกในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

มีข่าวไม่ดีมาทั้งคู่ สำหรับ 2 รัฐวิสาหกิจไทย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ฐานะการเงินเข้าขั้นวิกฤต และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่มาเจอเอากับผลประกอบการขาดทุนเป็นครั้งแรกในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าให้โอกาสการบินไทยมา 5 ปีแล้ว นัยก็คงจะหมายถึงการให้โอกาสเป็นครั้งสุดท้ายแหละ

ปี 2557 ที่พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจเข้ามา การบินไทยก็ขาดทุน 1.5 หมื่นล้านบาท ปี 2558 ขาดทุนอีก 1.3 หมื่นล้านบาท ปี 2559 พลิกกลับมากำไรเล็กน้อย 15 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 2 พันล้านบาท และมาปี 2561 กลับมาขาดทุนหนักอีก 1.1 หมื่นล้านบาท

ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 การครองอำนาจยุคเลือกตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ในปี 2562 การบินไทยก็ขาดทุนหนักอีก 1.2 หมื่นล้าน

บาท จึงไม่อาจจะโทษ “รัฐบาลชุดก่อน” เหมือนเช่นที่ผ่าน ๆ มาได้เลย และถ้าพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำที่หยั่งรู้ถึงหายนะการบินไทยจริง ก็คงจะได้เห็นปฏิบัติการกอบกู้เสียแต่ปี-สองปีแรกแล้ว

สถานะการเงินการบินไทย เข้าขั้นวิกฤตรุนแรงยิ่งนัก สินทรัพย์ก็ปริ่ม ๆ กับหนี้สินคือ 2.5 และ 2.4 แสนล้านบาทตามลำดับ และผลจากการมีขาดทุนสะสมอยู่ 1.9 หมื่นล้านบาทก็ทำให้ส่วนทุนเหลืออยู่เพียง 1.1 หมื่นล้านบาท ใกล้ติดลบเต็มทีแล้ว

ผู้สันทัดกรณีคาดการณ์กันว่า ครึ่งปีแรกนี้ การบินไทยอาจจะขาดทุนสูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งนั่นก็หมายถึงส่วนทุนจะติดลบทันที ทางออกที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดและไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือ “การเพิ่มทุน”

แต่ปัญหาว่า ใครจะมาเพิ่มทุนล่ะ ไหนจะมีปัญหาขาดแคลนกระแสเงินสดรุนแรงอีก ตามแผนจะขอให้กระทรวงคลังค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และต้องเพิ่มทุนอีก 8 หมื่นล้านบาท โดยไม่มี “แผนปฏิบัติการ” ก็มีแต่เสียงโห่ฮา

ปัญหาการบินไทย ถ้าช่วยให้ได้รับเงินกู้และช่วยเพิ่มทุน ก็แค่ประทังชีวิต แต่จะตายวันหน้า แต่หากตัดสายออกซิเจน ก็จะตายทันทีเลย คงต้องหาหมอมือดี พร้อมมีดคมกริบ มาผ่าฝีร้ายอย่างเฉียบพลันทันทีแล้ว

อนาคตช่างมืดมน ยากจะหาทางออก สถานการณ์ก็บีบคั้นกระชั้นชิดเข้ามาทุกทีจากภาระหนี้สินที่มีถึง 2.4 แสนล้านบาท  ในขณะที่ช่องทางรายได้ ไม่มีทางพอค่าใช้จ่าย

มีทางเลือกอยู่แค่ 2 ทางเท่านั้น นั่นคือทางที่ 1 ปล่อยให้เป็นรัฐวิสาหกิจล้มละลาย ตีทรัพย์ขายทอดตลาดไป หรือทางเลือกที่ 2 ยอมปรับลดฐานะรัฐวิสาหกิจลง โดยเชื้อเชิญกลุ่มทุนใหญ่และมีความเป็นมืออาชีพเข้ามาบริหาร

หากไม่คิดแบบ “แหกกรอบ” แก้ปัญหาการบินไทย ก็อย่าคิดเอาเงินภาษีอากรประชาชนไปอุ้มดีกว่า อุ้มไปก็ “เสียของ” เปล่า ๆ

การปลดฐานะการบินไทยให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงคลังยังคงถือหุ้นใหญ่อยู่ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ส่วนปัญหาของปตท. การขาดทุนในไตรมาสแรก เป็นเรื่องที่ไม่ได้พบเห็นบ่อยนัก ครั้งสุดท้ายน่าจะเกิดขึ้นเมื่อไตรมาส 3 ปี 2558 ที่ปตท.บันทึกด้อยค่าเงินลงทุนในโครงการต่างประเทศถึง 2.6 หมื่นล้านบาท หรือในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

แต่ผลประกอบการงวดปี ยังไม่พบปรากฏ นับแต่ปตท.เข้าตลาดตั้งแต่ปี 2544

ผลขาดทุนในไตรมาส 1 ปีนี้เพียง 1,554 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไร 2.93 หมื่นล้านบาท แต่สถานการณ์ปีก่อนกับปีนี้ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่ปีนี้เศรษฐกิจโลกล่มสลาย จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่อย่างปตท. ที่มีกำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรรถึง 8.35 แสนล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นที่มากถึง 1.27 ล้านล้านบาทนั้นถือว่าเล็กน้อยมาก ๆ

สัก 0.1% กว่าเห็นจะได้ แทบจะไม่ได้สร้างความระคายเคืองอะไรให้ปตท.เลย

การขาดทุนของปตท.มาจากบริษัทลูกในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น ไทยออยล์ ไออาร์พีซี PTTGC ซึ่งขาดทุนจากการขาดทุนสต๊อกจำนวนมากและค่าการกลั่น ส่วนที่ยังมีกำไรอย่างเช่น PTTEP ก็เป็นกำไรที่ลดลง คงมีลูกอย่างโรงไฟฟ้า GPSC เท่านั้นที่บุ๊กกำไรเพิ่ม

นอกจากนั้น ก็ยังมีผลกำไรจากการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน ประมาณ 8,400 ล้านบาท ซึ่งก็ช่วยให้ตัวเลขการขาดทุนของปตท. มิได้มากมายอะไรนัก

สรุปอาการของปตท.ยังไม่น่าห่วง ไตรมาส 2 ผลขาดทุนสต๊อกน่าจะเปลี่ยนเป็นกำไรจากฐานที่ต่ำ และยอดขายผลิตภัณฑ์น่าจะดีขึ้นจากสถานการณ์คลายล็อกโควิด-19 ทั่วโลก

การบินไทยต้องเปลี่ยนแปลงเพราะสถานการณ์บีบบังคับ ส่วนปตท.เปลี่ยนแปลงไปตามแผนตั้งรับที่ยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ และจะกลับคืนสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผลกำไรแน่นอน

Back to top button