สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 พ.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 พ.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 พ.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นธนาคารรายใหญ่ที่ถูกเทขายในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวขึ้นหลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 9% ซึ่งคำสั่งซื้อที่ส่งเข้าหนุนหุ้นทั้งสองกลุ่มได้ช่วยพยุงตลาดขึ้นปิดในแดนบวก หลังจากที่ถูกกดดันในช่วงแรกจากรายงานตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐที่สูงเกินคาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,625.34 จุด เพิ่มขึ้น 377.37 จุด หรือ +1.62% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,852.50 จุด เพิ่มขึ้น 32.50 จุด หรือ +1.15% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,943.72 จุด เพิ่มขึ้น 80.56 จุด หรือ +0.91%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (14 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวอย่างยาวนานโดยถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 2.17% ปิดที่ 326.71 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 10,337.02 จุด ลดลง 205.64 จุด หรือ -1.95%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,273.13 จุด ลดลง 71.82 จุด หรือ -1.65% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,741.54 จุดลดลง 162.51 จุด หรือ -2.75%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (14 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 นั้นจะใช้เวลานาน แม้ว่าหลายประเทศได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ตาม
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,741.54 จุด ร่วงลง 162.51 จุด หรือ -2.75%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 สัปดาห์เมื่อคืนนี้(14 พ.ค.) ขานรับสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งรายงานคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบทั่วโลกจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 2.27 ดอลลาร์ หรือ 9% ปิดที่ 27.56 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.ปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.94 ดอลลาร์ หรือ 6.7% ปิดที่ 31.13 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (14 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานกว่า 2.9 ล้านรายในสัปดาห์ที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 24.50 ดอลลาร์ หรือ 1.43% ปิดที่ 1,740.90 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.ปีนี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 48.5 เซนต์ หรือ 3.09% ปิดที่ 16.156 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 5.2 ดอลลาร์ หรือ 0.68% ปิดที่ 775 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.5 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 1,798.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 พ.ค.) หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดจะไม่ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินเพิ่มขึ้น 0.23% สู่ระดับ 100.48 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.23 เยน จากระดับ 106.99 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9744 ฟรังก์ จากระดับ 0.9723 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4073 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4108 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0782 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0815 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2193 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2218 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6430 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6440 ดอลลาร์สหรัฐ