TU แจงปิดรง.กานากระทบน้อย คงเป้ายอดขายปีนี้โต 3-5%
TU แจงปิดรง.กานากระทบน้อย คงเป้ายอดขายปีนี้โต 3-5% หั่นงบฯลงทุนทั่วโลก 25% รักษาสภาพคล่อง รับมือผลกระทบโควิด-19
นายบัลลังก์ ไวยานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ด้านนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า บริษัทชะลอการลงทุนในปี 63 เนื่องจากสถานการณ์ความเสี่ยงที่มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทำให้สิ่งที่บริษัทเล็งเห็นความสำคัญในการรักษากระแสเงินสดและสภาพคล่องให้เพียงพอรองรับกับความเสี่ยงได้ ส่งผลให้บริษัทปรับลดงบลงทุนทั่วโลกลง 25%
โดย ปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสด ณ สิ้นไตรมาส 1/63 ที่ 1 พันล้านบาท ถือว่าเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในภาวะความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และสามารถรองรับการจ่ายชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดได้ โดยที่ในช่วงไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมาบริษัทได้จ่ายคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนไปแล้ว 200 ล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ขณะที่บริษัทยังไม่มีแผนการออกหุ้นกู้ใหม่ในปีนี้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในวงกว้าง รวมถึงธุรกิจของบริษัทด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันยังมองว่าประเด็นโควิด-19 ที่เกิดขึ้นยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทั้งความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และความเสี่ยงเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านความสะอาดและสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงได้ชัดเจน
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่มีการปรับลดเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้ว่าจะเติบโต 3-5% ในปีนี้ แต่จะติดตามสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงต่อยอดขายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินทิศทางได้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะผลกระทบที่มีต่อบริษัทมีความแตกต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์
สำหรับการปิดโรงงานผลิตปลากระป๋องในประเทศกานาหลังพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนของบริษัทมากนัก เพราะผลกระทบของการปิดโรงงานในกานาที่มีผลต่อการผลิตทูน่ากระป๋องให้ลดลงไปเพียง 1% ของกำลังการผลิตและการขายในช่วง 1 ปี ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ขณะที่บริษัทมีโรงงานผลิตของซีเชลล์ โรงงานในโปรตุเกส และโรงงานในไทย ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเข้ามาทดแทนกำลังการผลิตที่หายไปจากการปิดโรงงานในกานา จึงสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามปกติ และไม่เกิดความสะดุด ส่วนโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านอาหารนั้น เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันอย่างแน่ชัดว่าเป็นไปได้หรือไม่
นอกจากนี้สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ ความสะอาดและปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทตั้งแต่ซัพพลายเออร์ พนักงานของบริษัท และลูกค้า เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการดำเนินงาน ทำให้ระบบซัพพลายเชนไม่เกิดการสะดุด และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท