“ธ.เอดีบี”-“กสิกรไทย” ปล่อยกู้ BCPG หนุนรฟฟ.ลม “ลิกอร์” นำร่องนวัตกรรมเก็บพลังงาน

“ธ.เอดีบี"-"กสิกรไทย” ร่วมปล่อยกู้ BCPG หนุนรฟฟ.ลม "ลิกอร์" นำร่องนวัตกรรมเก็บพลังงาน


ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ร่วมลงนามสัญญาเงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมลมลิกอร์ บริษัทในเครือ ของบีซีพีจี ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโครงการนำร่องภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่นำระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ขนาด 1.88 เมกะวัตต์ชั่วโมง มาใช้เพื่อทำให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น

โดยระบบนี้จะทำหน้าที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินความต้องการ และนำมาใช้เมื่อมีความจำเป็นในเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้ชุมชนมีไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็น 1 ใน 4 โครงการของบีซีพีจี ที่ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานกำกับดูแลกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนให้บริการด้านพลังงาน (ERC sandbox) เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการนำระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) มาใช้กับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมต่อไป

สำหรับวงเงินกู้ดังกล่าวจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 616.1 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนร่วมกันระหว่าง ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ในวงเงินประมาณ 235.6 ล้านบาท กองทุนเพื่อเทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology Fund) ซึ่งอยู่ภายใต้กองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศ (Climate Investment Funds) ในวงเงินประมาณ 144.9 ล้านบาท และธนาคารกสิกรไทย ในวงเงินประมาณ  235.6 ล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนโครงการที่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  และประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เปิดเผยว่า การที่โครงการพลังงานลมลมลิกอร์ บริษัทในเครือของบีซีพีจี ได้ลงนามสัญญาอนุมัติเงินกู้กับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank)  และ ธนาคารกสิกรไทย ในครั้งนี้ทำให้บริษัทฯ สามารถบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ มีเม็ดเงินเพื่อไปลงทุน และสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยโครงการลมลิกอร์จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนให้แก่ระบบไฟฟ้าภายในประเทศอย่างน้อย 14,870 เมกะวัตต์ ต่อปี เทียบเท่ากับการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ 6,263 ตัน ตลอดทั้งปี 2563

“นวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) นอกจากจะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แล้ว ยังสามารถใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของการบริหารจัดการระบบการสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยได้อีกด้วย” นายบัณฑิตกล่าว

ทั้งนี้ในฐานะบริษัทฯ ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย มีนโยบายในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการการใช้พลังงานของผู้บริโภคและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน เอื้อประโยชน์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพลังงานมากขึ้น ภายใต้แนวคิด Democratization of Energy

 

Back to top button