“ธปท.” แจงใช้วงเงิน 4.6 ล้านลบ.ช่วยรายย่อย จี้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ฝ่าวิกฤต “โควิด”

"ธปท." แจงใช้วงเงิน 4.6 ล้านลบ.ช่วยรายย่อย จี้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ฝ่าวิกฤต "โควิด"


นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต ให้สถาบันลดผ่อนขั้นต่ำจากเดิม 10% เหลือ 5% และเงินคงค้างที่เหลือก็จะขยายเวลาผ่อนเป็น 48 เดือน และลดดอกเบี้ยจาก 18% เป็น 12%, สินเชื่อเงินสดหมุนเวียนมีการขยายเวลาผ่อน พักเงินต้น ลดดอกเบี้ย ชะลอพักเงินต้นและดอกเบี้ย, สินเชื่อบ้าน, สินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ มีการขยายเวลาผ่อนและลดค่างวด

โดยจากข้อมูลล่าสุด มีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินรวมแล้ว 13 ล้านราย วงเงิน 4.6 ล้านล้านบาท

  “มาตรการข้างต้นเป็นแค่มาตรการชั่วคราว สิ่งที่ ธปท.อยากเห็นคือสถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลูกหนี้จะมีในช่วงต่อจากนี้ไป เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ ธปท.จะร่วมมือกับสถาบันการเงินในการดูแลให้มีการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับลูกค้ารายย่อย”

ขณะที่ในส่วนของมาตรการดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ที่เริ่มมาตั้งแต่ 1 พ.ค. ได้มีการกำหนดวิธีการคำนวณใหม่ โดยจะคำนวณเฉพาะเงินต้นงวดที่ค้างชำระเท่านั้น จากเดิมที่คำนวณจากเงินต้นทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของลูกหนี้ลดลงมาก

สำหรับมาตรการซอฟท์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วงเงิน 5 แสนล้านบาท จนถึงขณะนี้มีผู้เข้ามายื่นขอรับซอฟท์โลนดังกล่าวแล้ว 49,308 ล้านบาท จากลูกหนี้ 28,601 ราย วงเงินเฉลี่ยที่ได้รับคือ 1.7 ล้านบาทต่อราย โดย 72% เป็นธุรกิจขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นธุรกิจขายส่งขายปลีกสินค้า 49%

ทั้งนี้ ธปท.ได้กำชับสถาบันการเงินที่มีโครงสร้างลูกหนี้เอสเอ็มอีขนาดใหญ่เร่งติดต่อลูกค้าให้ยื่นขอสินเชื่อ นอกจากนี้ได้ประสานงานกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าในการเร่งให้สมาชิกของสมาคมเหล่านี้เข้ามายื่นขอซอฟท์โลนจากสถาบันการเงิน

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับมาตรการนี้ 1. เป็นลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย 2. จะต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3. จะต้องไม่เป็นลูกหนี้ NPL เมื่อ 31 ธ.ค.62 4. จะต้องมีวงเงินกับสถาบันการเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท

โดยจะให้สินเชื่อวงเงินไม่เกิน 20% ของวงเงินสินเชื่อคงค้าง ณ วันที่ 31 ธ.ค.62 คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% นาน 2 ปี และไม่มีค่าธรรมเนียมทุกประเภท รวมทั้งไม่มีการขายพ่วงประกัน

นอกจากนี้จะมีมาตรการชะลอการชำระหนี้ คือการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะไม่ถือว่าผิดนัดชำระหนี้และไม่เสียประวัติแต่อย่างใด

Back to top button