พาราสาวะถี
เป็นไปตามนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือคนร.ฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี 2 ประเด็นสำคัญคือ ให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยจาก 51 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 48 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การฟื้นฟูกิจการมีความคล่องตัวมากขึ้น สัดส่วนหุ้นที่ลดลงจะถูกขายต่อให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นแทน
อรชุน
เป็นไปตามนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือคนร.ฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี 2 ประเด็นสำคัญคือ ให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยจาก 51 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 48 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การฟื้นฟูกิจการมีความคล่องตัวมากขึ้น สัดส่วนหุ้นที่ลดลงจะถูกขายต่อให้กองทุนวายุภักษ์เข้ามาถือหุ้นแทน
ประการต่อมาคือ ให้การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามพ.ร.บ.ล้มละลาย โดยผ่านกระบวนการศาลล้มละลายกลาง แน่นอนว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว เจ้าหนี้ของการบินไทยกับผู้จัดทำแผนต้องมาตกลงร่วมกัน โดยหลังจากนั้นคนร.ก็จะหมดอำนาจไป โดยอำนาจการบริหารจะอยู่กับผู้ทำแผนฯ ซึ่งศาลล้มละลายจะตั้งขึ้นตามคำแนะนำของเจ้าหนี้ ชัดเจนว่าแนวทางที่ครม.เคาะกันนั้นเป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมถูกมองในมิติทางการเมืองระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญ 2 พรรค หากจำกันได้วันศุกร์ที่ผ่านมาที่มีการนัดหารือเพื่อสรุปสุดท้ายที่กระทรวงคมนาคม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลังไม่ได้เข้าร่วม โดยอ้างเหตุว่าติดภารกิจ ซึ่งความจริงแล้วไม่น่าจะมีเรื่องไหนที่สำคัญกว่ากรณีนี้ และนั่นทำให้การหารือดังกล่าวเป็นเรื่องการเดินหน้าของรัฐมนตรีในสังกัดภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ อันเป็นผลทำให้เห็นรูปรอยของการไม่ลงรอยกับพรรคแกนนำรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
อย่าลืมเป็นอันขาดว่าเดิมทีแนวทางที่ศึกษากันมาตั้งแต่รัฐบาลคสช. ยังคงวนเวียนอยู่ในประเด็นเรื่องของการกู้เงิน ค้ำประกันเงินกู้โดยกระทรวงการคลัง แต่แนวทางล่าสุดนั้น ยืนยันจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคมว่า การฟื้นฟูกิจการในแนวทางดังกล่าวกับกิจการที่มีหนี้สินจำนวนมากนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้กิจการนั้นไม่ต้องนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด และไม่ต้องชำระหนี้
ในมุมของคนที่เป็นนักธุรกิจใหญ่มองว่า หลังการยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า Automatic Stay หรือการพักการชำระหนี้โดยผลของกฎหมาย เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกให้มีการแบ่งชำระหนี้ได้ ขณะที่เรื่องผลกระทบต่อพนักงานการบินไทยนั้น ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ กำไร-ขาดทุน และเส้นทางการบิน ซึ่งระหว่างการทำแผนฟื้นฟู ผู้จัดทำแผนต้องหารือและตกลงร่วมกับพนักงานฝ่ายปฏิบัติการทั้งหลาย เพราะผู้จัดทำแผนมีอำนาจเสมือนเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือดีดีบินไทยอยู่แล้ว
แนวทางดังว่านี้ ท่าทีที่ต้องติดตามคือสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เพราะคนเหล่านี้คัดค้านมาโดยตลอดเรื่องที่จะทำให้การบินไทยพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ด้วยเหตุผลที่อ้างกันมาตลอดว่านี่คือสายการบินแห่งชาติ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องถามว่าคนในชาติส่วนใหญ่นั้นได้รับคุณูปการอะไรจากสายการบินแห่งนี้หรือไม่ และหากเปิดใจยอมรับความเป็นจริง ก็จะพบว่าหลายรัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันกับภาคเอกชนต้องยอมรับสภาพของการเปลี่ยนแปลงเพื่อการดำรงอยู่ขององค์กร
อย่าลืมเป็นอันขาดว่ารัฐวิสาหกิจอย่าง อสมท ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ต่างเป็นองค์กรที่ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ มิเช่นนั้น จะไม่สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนหลังจากการเปิดเสรีทางด้านกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมได้ ดังนั้น การบินไทยก็ย่อมหนีไม่พ้นวัฏจักรนี้ได้เช่นกัน การจะให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกระเตงกันไปตลอดนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง และเทียบไม่ได้กับองค์กรที่เป็นการบริการเชิงสาธารณะอย่าง ขสมก. หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย
การเดินหน้าเช่นนี้ก็เป็นการตอกย้ำคำประกาศิตของท่านผู้นำก่อนหน้าที่ว่า นี่เป็นโอกาสสุดท้าย ขอให้สหภาพแรงงานและผู้บริหารทุกภาคส่วนของการบินไทยให้ความร่วมมือแต่โดยดี อย่าลืมเป็นอันขาดว่าการเดินเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการนั้น องค์กรยังสามารถทำการบินได้ ลูกหนี้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการสามารถประกอบธุรกรรมที่เป็นปกติวิสัยได้ ส่วนการล้มละลายเป็นการทำให้ลูกหนี้ต้องหยุดทุกทางแล้วนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด นี่คือเหตุผลที่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้เลือกทางนั้น
ภารกิจของรัฐบาลสืบทอดอำนาจในยามที่เผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ต้องยอมรับว่าบักโกรกจริง เวลานี้เริ่มมีคำถามกับการคงใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหลังจบช่วงเวลาขยายการบังคับใช้จะครบกำหนดในสิ้นเดือนนี้ เพราะสงสัยกันว่าในขณะที่ฝ่ายกุมอำนาจวางเป้าหมายที่จะผ่อนคลายล็อกดาวน์ไปจนถึงเฟส 4 ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ นั่นหมายความว่า ต้องการให้ภาคธุรกิจ เศรษฐกิจรีสตาร์ตกลับเข้าสู่การฟื้นตัวกันถ้วนหน้า แต่การคงกฎหมายดังกล่าวไว้ มันจะทำให้เป็นอุปสรรคหรือไม่
ฟังเหตุผลที่ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.ชี้แจงว่า ตั้งแต่มีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลง มันก็ยังไม่มีน้ำหนักอยู่ดี เพราะทุกวันที่มีการแถลงข่าว ยังคงย้ำถึงความร่วมมือจากประชาชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันที่สำคัญอย่างเข้มงวดทุกครั้ง เท่ากับว่า ผลสำเร็จของการลดจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาดนั้น ไม่ได้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายดังว่า หากแต่อยู่ที่การปฏิบัติตัวของประชาชนเป็นสำคัญ
ดังนั้น เมื่อยิ่งเกิดการผ่อนปรนกันมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการหย่อนยานในมาตรการบางประการ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย โดยที่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับพ.ร.ก.ฉุกเฉินแม้แต่น้อย ดังนั้น หากยังคงยืนยันที่จะคงกฎหมายดังกล่าวไว้ ก็เท่ากับว่า ผู้มีอำนาจไม่ได้ต้องการใช้เพื่อดูแลเรื่องโควิด-19 หากแต่เป็นการใช้เพื่อรวบอำนาจในการบริหารภายในรัฐบาลไว้กับตัวเองแต่เพียงผู้เดียว กับอีกด้านคือไว้เป็นเครื่องมือเพื่อกำราบฝ่ายตรงข้าม
อย่าลืมเป็นอันขาด อำนาจที่เบ็ดเสร็จนั้นมันเหมาะกับบางช่วงเวลาและบางสถานการณ์เท่านั้น เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย ก็ควรที่จะต้องเลิกใช้อำนาจพิเศษเหล่านั้น อย่าลืมว่ารัฐบาลนี้ไม่ใช่เผด็จการผ่านการเลือกตั้งมาแล้วแม้จะได้ชื่อว่าสืบทอดอำนาจมาก็ตาม และในยามที่ผู้คนลำบาก เงินเยียวยาที่ช่วยเหลือไปนั้น ทำได้แค่พอประทัง หากยังมีคนตกงานต่อเนื่อง อดอยากกันชนิดที่มองไม่เห็นหนทางข้างหน้าว่าจะเดินต่อกันอย่างไร ในวันที่ขีดความอดทนถึงจุดสิ้นสุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เอาไม่อยู่