MINT ปรับแผนรับมือโควิด หั่นงบลงทุน-ชะลอซื้อกิจการ-เจรจายืดหนี้

MINT ปรับแผนรับมือผลกระทบโควิด-19 หั่นงบลงทุนปี 63 เหลือ 1-1.1 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1.7 หมื่นล้านบาท-ชะลอซื้อกิจการ-เจรจายืดหนี้


นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี 63 ทำให้ต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจมาเป็นการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย การรักษาฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง และการปรับแผนของกลุ่มธุรกิจทั้ง 3 ของบริษัทให้สอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลง โดยให้แต่ละหน่วยธุรกิจประมาณการการปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงได้มีการปรับลดเงินเดือนพนักงาน การพักการปรับขึ้นเงินเดือน และให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวโดยไม่รับเงินเดือน เพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทลดลง

อีกทั้งบริษัทยังได้ปรับลดงบลงทุนรวมในปี 63 ลงเหลือ 1-1.1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยเลื่อนแผนการใช้งบลทุนเป็นในปีต่อ ๆ ไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์ พร้อมทั้งจะชะลอแผนการซื้อกิจการ (M&A) ในปีนี้ออกไปก่อน เพื่อรักษากระแสเงินสด และไม่ก่อหนี้เพิ่ม

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทำให้บริษัทจำเป็นต้องรักษาฐานะทางการเงินให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อเป็นเกราะป้องกันในภาวะวิกฤติ ซึ่งกระทบกับธุรกิจของบริษัทโดยตรง โดยในส่วนของกระแสเงินสดของบริษัทนั้น ปัจจุบันถือว่ายังมีความเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจที่ 2.2 หมื่นล้านบาท และมีเงินสดที่เป็นสภาพคล่องในการดำเนินงานที่ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทยังจำเป็นต้องลดต้นทุนต่าง ๆ ลงให้ได้มากที่สุด เพื่อตุนเงินสดไว้ให้ได้มาก โดยปัจจุบันบริษัทได้ลดต้นทุนลงไปแล้ว 30% ของแผนค่าใช้จ่ายที่วางไว้ในปีนี้ รวมถึงการงดจ่ายเงินปันผลของผลการดำเนินงานปี 62 เพื่อทำให้บริษัทสามารถรักษากระแสเงินสดไว้ใช้ในยามจำเป็น

นอกจากนี้บริษัทยังต้องมีการควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้ลดลงมาตามนโยบายที่ควบคุมไม่เกิน 1.3 เท่า หลังจากไตรมาสแรก  D/E ของบริษัทปรับเพิ่มสูงขึ้นมาที่ 1.61 เท่า จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/63 ขาดทุนกว่า 1.7 พันล้านบาท ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อเข้ามาช่วยลด D/E โดยที่บริษัทวางแผนในการเพิ่มทุนราว 1 หมื่นล้านบาท จากการเสนอขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) และประมาณ 5 พันล้านบาท จากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ ครั้งที่ 7 (MINT-W7) ที่จะมีการแปลงสภาพในช่วง 3 ปี รวมถึงจะการออกหุ้นกู้คล้ายทุน (Perpetual bond) เสนอขายกับนักลงทุน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเสริมให้บริษัทมีทุนและเงินสดเข้ามารองรับ และช่วยลด D/E ลงได้

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีการเจรจากับเจ้าหนี้ในการขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ซึ่งทำให้บริษัทได้ตั้งเงื่อนไขเพื่อสร้างความมั่นใจกับเจ้าหนี้ ได้แก่ การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งจะต้องไม่ทำ M&A มากกว่า 3% ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด และไม่ก่อหนี้เพิ่มมากว่า 1.5 แสนล้านบาท/ไตรมาส ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระคืนในช่วงครึ่งปีหลัง จำนวน 3.6 พันล้านบาท บริษัทได้มีการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ในการให้วงเงินสินเชื่อเพื่อนำมาชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ซึ่งนักลงทุนสามารถมีความมั่นใจในการจ่ายคืนหุ้นกู้ได้

ด้านแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในช่วงภาวะโควิด-19 หลังจากที่ธุรกิจของบริษัททั้งหมดได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาส 1/63 ทำให้แผนการดำเนินงานในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 2/63 บริษัทจะต้องมีการเลือกเปิดให้บริการในส่วนเฉพาะธุรกิจที่บริษัทยังเห็นว่ามีความคุ้มค่า สามารถสร้างกำไรและกระแสเงินสดให้กับบริษัทได้ โดยที่ในไตรมาส 2/63 ประเทศที่จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานของบริษัท คือ ประเทศจีน ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 มากขึ้น และเริ่มเห็นการฟื้นกลับมาของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และการออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในจีน กลับมาฟื้นตัวขึ้นเป็นบวก แม้ว่าจะยังไม่สามารถกลับไปได้เหมือนช่วงก่อนโควิด-19 แต่ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี หลังจากที่ธุรกิจของบริษัทในจีนได้ปิดไปตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.พ. 63

ขณะที่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในไทย บริษัทจะมีการพิจาณาเลือกเปิดในบางแห่งหลังจากที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ ในปัจจุบัน แต่ยังมีข้อจำกัดของ Social Distance ที่ทำให้การให้บริการยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ ทำให้บริษัทจะต้องพิจารณาการเลือกเปิดดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจร้านอาหารที่จะต้องดูว่าสาขาใดเปิดแล้วคุ้มค่า มีกำไร และสามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทได้ ซึ่งจะเปิดให้บริการสาขานั้นๆตามความเหมาะสม ส่วนการบริการของร้านอาหารยังคงมีการให้บริการดิลิเวอร์รี่ ซึ่งบริษัทได้มีการกระตุ้นผ่านโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อสร้างยอดขายเข้ามา

ส่วนธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยอาจจะยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เร็ว เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามา ในประเทศไทยได้ และภาคการท่องเที่ยวในไตรมาส 2/63 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาเต็มไตรมาส ซึ่งโรงแรมของบริษัทในไตรมาส 2/63 จะมีการเปิดให้บริการบางแห่ง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในประเทศบางส่วน ซึ่งอาจจะยังมีการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้ ๆ แต่ถือว่าธุรกิจโรงแรมยังคงได้รับแรงกดดันในไตรมาส 2/63 ค่อนข้างมาก

โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจของไมเนอร์ฯต้องปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เผชิญกับความไม่แน่นอน และยังมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก แม้ว่าตอนนี้จะมีการผ่อนคลายมาตรการลงบ้างแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดของ Social Distancing ที่ทำให้เรายังไม่สามารถดำเนินการได้ปกติเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องพิจาณาแผนงานต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และรักษากระแสเงินสดของบริษัทเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้”นายชัยพัฒน์ กล่าว

Back to top button