GPSC คาดผลงาน Q2 โตแกร่ง หลังต้นทุนลด-รายได้ขายไฟสดใส ลั่นกำลังผลิตแตะ 5,026 MW ใน 5 ปี
GPSC คาดผลงาน Q2 โตแกร่ง หลังต้นทุนลด-รายได้ขายไฟสดใส ลั่นกำลังผลิตแตะ 5,026 MW ใน 5 ปี
นางวนิดา บุญภิรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/63 เป็นผลมาจากราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักปรับตัวลดลง สอดคล้องไปกับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 เหรียญฯ/บาร์เรล
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ มีการขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) 51% และการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 48% และลูกค้าอื่นๆ อีก 1% โดยมองผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 น่าจะกระทบกับลูกค้านิคมอุตสาหกรรมในบางกลุ่ม แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับ GPSC อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้จากการเข้าซื้อโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 9 โครงการ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตร สุพรรณบุรี ลพบุรี และขอนแก่น โดยมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 39.5 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งปัจจุบันได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และมีอายุสัญญาคงเหลือจนถึงปี 2582 -2583 โดยบริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (Global RenewablePower Co., Ltd.หรือ GRP) คาดว่าจะส่งผลดีต่อกำไรของ GPSC ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/63 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเข้าซื้อกิจการ (Synergy) กับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการและการให้บริการ รวมถึงสร้างความมั่นใจในระบบจ่ายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคไปยังลูกค้า จากการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบส่งไฟฟ้าและระบบท่อส่งไอน้ำเข้าด้วยกัน โดยปีนี้คาดจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 400 ล้านบาท จากไตรมาส 1/63 ทำได้แล้ว 120 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางงบลงทุน 5 ปี (63-67) ไว้ที่ 60,000 ล้านบาท โดยจะมาจากการขออนุมัติผู้ถือหุ้น ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในวันที่ 4 มิ.ย.63 เพื่อออกหุ้นกู้ วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และที่เหลือมาจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ โดยยืนยันว่าภายหลังจากการออกหุ้นกู้จะยังรักษาระดับหนี้สินต่อทุน (D/E) ไว้ไม่เกิน 1 เท่า
อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุน ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยาย (NNEG Expansion) ขนาดกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงไตรมาส 3/63, การก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid กับบริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด (Thai Takasago Co., Ltd.) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น มูลค่างานก่อสร้างสัญญาประมาณ 295 ล้านบาท และเมื่อรวมอุปกรณ์ที่จัดซื้อโดย GPSC แล้วจะมีมูลค่าโครงการกว่า 1,100 ล้านบาท โดยเริ่มแรกจะมีกำลังการผลิตที่ 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) โดยมีลูกค้าในกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และจะมีการขยายต่อเนื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2563
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้า Rayong Waste to Energy หรือ WTE กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ คาด COD ได้ในช่วงไตรมาส 2/64 ส่วนโครงการหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU (Energy Recovery Unit) กำลังการผลิต 250 เมกวัตต์ และโครงการ SPP Replacement ขนาด 192 เมกะวัตต์ จะ COD ได้ในปี 65 ส่งผลทำให้ในระยะเวลา 5 ปีนี้ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 5,026 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังเดินหน้าการลงทุนโครงการใหม่ๆ ต่อเนื่อง เพื่อผลักดันสัดส่วนพลังงานทดแทน (Renewable Energy) เป็น 30% ในอนาคต จากปัจจุบันอยู่ที่ 11% ที่เหลือจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภท Conventional
“กลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นไปใน 3S ได้แก่ Synergy&Integration, Selective Growth หรือการพิจารณาการเติบโตอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเติบโตไปพร้อมกับกลุ่มปตท. หรือบริษัทเอง และ S-Curve หรือการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ เช่น การลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ การทำ Energy Storage System และการตั้งเป้าเป็น Energy Management Solution Provider”