PTT ‘ยุคเก่ง’ มากกว่า ‘เฮง’
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เข้ารับตำแหน่งเป็นคนล่าสุด พร้อมกับความ “เฮง” ผสมกับความท้าทายใหม่ ที่ตอกย้ำว่า ภายใต้การบริหารของคนรุ่นหนุ่มที่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 2 สมัย (หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นใด) จะทำให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติมีทิศทางที่เติบโตอีกระลอกหนึ่งที่อาจจะไม่ซ้ำรอยเดิม
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เข้ารับตำแหน่งเป็นคนล่าสุด พร้อมกับความ “เฮง” ผสมกับความท้าทายใหม่ ที่ตอกย้ำว่า ภายใต้การบริหารของคนรุ่นหนุ่มที่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 2 สมัย (หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นใด) จะทำให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติมีทิศทางที่เติบโตอีกระลอกหนึ่งที่อาจจะไม่ซ้ำรอยเดิม
หากไม่นับสถานการณ์โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นล่าสุด ที่ส่งผลให้ราคาหุ้นของ PTT ซึ่งเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีหรือ บุ๊กแวลู ปิดตลาดที่ 26.50 บาท เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ต่ำกว่าบุ็กแวลู 30.70 บาท
และค่าพี/อีต่ำสุดที่มีมานับแต่แตกพาร์หลายปีก่อน ที่ระดับใต้ 8 เท่า
นอกจากนั้น ยังมีผลให้ PTT ที่ปัจจุบันมีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งเต็มรูป ต้องรับรู้ความเสียหายจากบริษัทใต้ร่มธงที่มีตัวเลขขาดทุนจากสต๊อกมากมาย แม้จะยังสามารถรักษาให้กำไรจากการดำเนินงานปกติ (EBITDA) ยังเป็นบวก แต่ก็ทำให้ตัวเลขกำไรสุทธิติดลบในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 1.55 พันล้านบาท
การขาดทุนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น และเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีทำให้เกิดความเฮงกับผู้บริหารของ PTT อย่างน้อย 2 ด้านพร้อมกัน คือ ไม่ถูกรบกวนจากเสียงด่าทอว่าเป็นเสือนอนกินชั่วคราว และทำให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งใหญ่และน้อยที่ถือช้อนทองคำทั้งหลายว่า อาจจะถือได้ว่าเป็น “ก้นเหว” ที่จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต เพราะคาดหมายว่าธุรกิจน่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4
ราคาหุ้น PTT ที่หวนวกกลับมายืนเหนือ 35.00 บาท ในช่วงเวลาเพียงเดือนเศษจากจุดต่ำสุดของปี แม้จะไม่ได้สะท้อนสถานการณ์เลวร้ายที่ยังคงคาดหมายว่าจะยังคงดำรงอยู่ในช่วงไตรมาสสองของปี ก็ถือว่าทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพียงแต่ขีดจำกัดขาขึ้นต้องวัดจากผลประกอบการเป็นหลัก
ไตรมาสแรกที่ประกาศผลประกอบการที่ขี้เหร่ของ PTT ที่บันทึกกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัด จำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 32,385 ล้านบาท ลดลง 34,563 ล้านบาท หรือร้อยละ 51.6 จากไตรมาส 4 ปี 2562 (4Q2562) จากสาเหตุที่รุมเร้ายากควบคุม และตัวเลขการขาดทุนสต๊อกน้ำมันตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากสะท้อนว่าการขาดทุนสุทธิเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุของสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น
แม้ว่าค่าพี/อีล่าสุดจะค่อนข้างสูงเกินปกติ ก็ถือว่าเป็นความท้าทายความเก่งของผู้บริหารในระยะต่อไปว่าจะยกระดับกำไรกลับมาได้ดีและรวดเร็วแค่ไหน
มุมมองแบบ “โลกสวย” ของนักวิเคราะห์ที่มองว่า PTT มีฐานธุรกิจขนาดใหญ่และแข็งแกร่งมากซึ่งจะช่วยขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ช่วยให้ธุรกิจมีการกระจายตัวดียิ่งขึ้นอีก นอกจากนั้น ยังเห็นถึงอัตราเงินปันผลที่น่าสนใจราว 5% เพราะคาดว่าอัตราเงินปันผลยังดี แม้กำไรปีนี้จะลดลงมากก็ตาม
รวมถึงมีประเด็นบวกช่วงท้ายปีจากการทำ IPO หุ้น PTTOR ซึ่งเป็นทีเด็ดในการสร้างมูลค่าผู้ถือหุ้นที่มีนัยสำคัญมาก
ความมั่นใจของนักลงทุนข้างต้น จะถูกต้องหรือไม่ แล้วเกี่ยวข้องกับการที่สถาบันเครดิตทางการเงินได้เข้ามาประเมินแล้วให้เครดิต เรตติ้ง กลุ่ม ปตท.ที่ BBB+ หรือเพราะคำขวัญ (ตามสูตรในหลายปีมานี้ของกลุ่ม) ของนายอรรถพล ที่ระบุว่าจะยึดหลักการบริหารจัดการตาม 4 R (Resilience การสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง Restart เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจนำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน Re-imagination การเตรียมความพร้อมที่จะออกแบบธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนทางธุรกิจที่จะเป็น Next Normal ทั้งธุรกิจ ต้นน้ำ ปลายน้ำและ New S Curve และ Reform จะต้องมีการปรับเปลี่ยน จัดโครงสร้างองค์กร รูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต) หรือไม่ ……ยากจะคาดเดาได้เช่นกัน
สุ้มเสียงของนักวิเคราะห์แห่งสำนักโบรกเกอร์ยามนี้ที่ออกมาเป็นเสียงเดียวว่า PTT ได้ผ่านจุดต่ำสุดของผลประกอบการไปแล้ว แม้จะชวนให้กังขา แต่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยบวกให้มีแรงซื้อหุ้นในตลาดอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แม้บางสำนักจะทำการปรับกำไรสุทธิ และราคาเป้าหมายปี 2563 ลง แต่ฉันทามติในคำแนะนำ “ซื้อ” ถือเป็นปัจจัยบวก
แผนในระยะยาวเชิงยุทธศาสตร์ของฝ่ายบริหาร PTT ในการมองหาธุรกิจใหม่ที่มีความผันผวนน้อยกว่าธุรกิจเดิมที่เป็น Commodities ซึ่งถือว่าต้องการสร้างการเติบโตด้วยความ “เก่ง” มากกว่า “เฮง” อาจจะไม่มีอะไรใหม่มากนัก แต่ก็บ่งบอกอนาคตได้ดีว่า จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ
สิ่งที่เป็นประเด็นคือจะรักษาโมเมนตัมได้ดีแค่ไหนต่างหาก คือปมที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ