พาราสาวะถี

ประเดิมประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนัดแรกวันนี้ ถกกันด้วยเรื่องสำคัญพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เดิมทีซีกรัฐบาลตีกรอบ ขีดวงให้อภิปรายกันได้แค่ 3 วัน พร้อมขู่สำทับอย่าล้ำเส้นเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และไม่ต้องมาขอเวลาเพิ่ม สุดท้าย ในเมื่อเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล โดยที่ไม่มีรายละเอียดการใช้จ่ายเป็นรูปเล่ม จำเป็นที่ฝ่ายค้านจะต้องขอความชัดเจนในทุกด้าน ที่ประชุมวิปสองฝ่ายจึงขยายเวลาอภิปรายเป็น 5 วัน


อรชุน

ประเดิมประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนัดแรกวันนี้ ถกกันด้วยเรื่องสำคัญพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เดิมทีซีกรัฐบาลตีกรอบ ขีดวงให้อภิปรายกันได้แค่ 3 วัน พร้อมขู่สำทับอย่าล้ำเส้นเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และไม่ต้องมาขอเวลาเพิ่ม สุดท้าย ในเมื่อเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล โดยที่ไม่มีรายละเอียดการใช้จ่ายเป็นรูปเล่ม จำเป็นที่ฝ่ายค้านจะต้องขอความชัดเจนในทุกด้าน ที่ประชุมวิปสองฝ่ายจึงขยายเวลาอภิปรายเป็น 5 วัน

ในมุมของรัฐบาลคงไม่ได้นึกได้หรือเข้าใจว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้เวลาฝ่ายค้านมากขนาดนั้นในการอภิปราย แต่เนื่องจากเวลานี้ยังติดขัดเรื่องของการประกาศเคอร์ฟิว ดังนั้น การประชุมสภาจะลากยาวกันเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ จึงต้องวางกรอบเวลาในการอภิปรายแต่ละวัน ซึ่งนั่นไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งที่คนอยากรู้คือ เงินกู้ในส่วนของรัฐบาล 1 ล้านล้านบาทนั้น จะถูกนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้นำจึงระดมรัฐบาลทั้งคณะให้เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง

เป็นธรรมดา เมื่อเป็นเวทีของสภาจะให้ฝ่ายค้านอภิปรายสนับสนุนโดยไม่พูดถึงสิ่งที่เป็นข้อบกพร่องของรัฐบาลคงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่รัฐบาลอ้างว่ามุ่งมั่นตั้งใจทำงานเต็มที่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งทุกคนทุกฝ่ายเข้าใจดี แต่เสียงสะท้อนต่อกระบวนการแก้ปัญหาจากประชาชนนั้น ถามว่ามีการรับฟังกันมามากน้อยขนาดไหน ส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชนและลงพื้นที่กันต่อเนื่อง น่าจะมีมุมมองที่เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้านมาแจ้งรัฐบาลได้ตรงจุดมากที่สุด

ไม่จำเป็นจะต้องมากลัวว่าจะถูกดิสเครดิต เวทีเช่นนี้ดีเสียด้วยซ้ำที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะได้แสดงผลงานให้ทุกคนได้เห็น ในยามวิกฤตินั้นได้แสดงภาวะผู้นำ ใช้ความมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการวางแผนแก้ไขอย่างไร รวมไปถึงความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ ทุกอย่างเพื่อได้เปิดเผยออกมา ไม่ใช่หน้าที่ของเสียงในสภาทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลจะตัดสินว่าที่ทำมานั้นดีแล้วหรือไม่ หากแต่ประชาชนทุกคนจะเป็นผู้ชี้วัดเองว่า แก้ปัญหาได้ดีและเพียงพอกับความเดือดร้อนหรือไม่

ประเด็นเรื่องยืดอายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ยังเป็นเรื่องของการมองต่างมุม แน่นอนในซีกของรัฐบาลพยายามหาเหตุหาผลมาชี้แจงถึงความจำเป็น แต่ฝ่ายที่เห็นต่างก็มองว่าถ้าจะควบคุมโรคโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายที่เน้นหนักในด้านการดูแลความมั่นคง ลำพังพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อก็เอาอยู่ จนมีการจุดประเด็นทางสังคมของฝ่ายต่อต้านล่าสุดว่า “รัฐบาลกำลังควบคุมเราไม่ใช่ควบคุมโรค” ขณะที่คนกำลังเดือดร้อนคงไม่ได้ฟังฝ่ายไหนว่าจะอธิบายอย่างไรขอให้เพียงมีอยู่มีกินก็พอ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่มีประเด็นถกเถียงกันว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสั่งให้กอ.รมน.ไปทำโพลเรื่องต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ จนท่านผู้นำออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้สั่ง พร้อมกับยกเอาโพลของสื่อเลือกข้างบางสำนักมาอ้างว่า มีประชาชนสนับสนุนให้ต่ออายุเกินร้อยละ 80 ซึ่งก็บอกไปว่าอย่าได้หยิบเอาสิ่งที่ตัวเองก็รู้อยู่แล้วว่าผลออกมาเป็นอย่างไรมาสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง เพราะการจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่เลือกข้างใครนั้น ต้องยกเอาสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับมาอ้าง

หากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมจะมีคำถามกลับไปว่า แล้วผลโพลของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองหรือคนส.ที่ออกมาว่า ประชาชนร้อยละ 87.6 ไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 3 นั้น มีน้ำหนักให้ฝ่ายกุมอำนาจฟังบ้างหรือไม่ กล้าบอกได้เลยว่า ไม่มีทาง นี่คือความเป็นจริง จงอย่าเลือกใช้ความเห็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาเป็นเครื่องฟอกขาวให้ตัวเอง สุดท้าย มันก็หนีไม่พ้นสิ่งที่พยายามพูดมาตลอดว่า ไม่เลือกข้าง เป็นรัฐบาลของทุกคนทุกฝ่ายนั้น มันแค่วาทกรรมลวงโลก

คงจะเป็นการคิดแบบได้ใจหรือไม่ก็ใช้วิธีการศรีธนญชัยจนเคยตัว ในจังหวะที่ทุกคนกำลังเป็นกังวลกับโควิด-19 ที่ประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ก่อนจึงได้ผ่านความเห็นชอบให้สามารถถอดถอนศิลปินแห่งชาติที่มีความประพฤติเสื่อมเสียได้ โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้แก้กฎกระทรวงให้สอดคล้องและประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ท่ามกลางความกังขาของคนจำนวนไม่น้อยว่า สิ่งที่คิดและทำกันไปนั้นเพื่อปกป้องคุณค่าของความเป็นศิลปินแห่งชาติหรือหวังผลทางการเมืองแน่

อย่าลืมเป็นอันขาดคำว่าความประพฤติเสื่อมเสียนั้น ต้องวางกรอบให้ชัดเจน เป็นเรื่องแบบไหน หากเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองและจำเพาะเจาะจงไปว่า เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายที่บริหารประเทศ เช่นนี้จะถือว่าเข้าข่ายและต้องถอดถอนกันหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า คนที่อยู่ในอำนาจหากต้องการปิดปากคนที่มีทัศนคติทางการเมืองที่ไม่ตรงกับตัวเอง ก็สามารถใช้ข้อนี้ในการข่มขู่ได้ ใครกล้าแหลมออกมาแสดงความเห็นเป็นต้องโดนปลดออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ

ความเห็นจาก พินัย สิริเกียรติกุล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร น่าสนใจ “ศีลธรรมของคุณกับของผมอาจต่างกันก็ได้ อาจเป็นฟ้ากับเหวก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้เป็นส่วนหนึ่งของการนำมาเป็นประเด็น ศิลปินก็คือศิลปินต้องวัดกันที่ผลงาน” เช่นเดียวกับ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ชี้ว่า ประเทศที่เจริญแล้วไม่มีใครกำราบศิลปิน พร้อมกับตั้งคำถามย้อนกลับไปตรง ๆ ว่า ที่ทำกันเช่นนี้หวังปิดปากใช่หรือไม่

ประเด็นพวกนี้หากไปถามจากท่านผู้นำ ก็จะได้รับคำตอบที่คุ้นชินคือการโยนไปให้ของฝ่ายที่รับผิดชอบ เพราะตัวเองไม่มีส่วนรู้เห็น ประสาคนหัวหมอ ไม่ได้ลอยตัวเหนือปัญหา แต่ว่าเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหาเพื่อที่จะได้หาเหตุให้เกิดความชอบธรรมในการเข้าไปแก้ไข เหมือนอย่างปัญหาความขัดแย้ง แตกแยก หากไม่โกหกตัวเองหรือไม่หลับหูหลับตาเชลียร์ฝ่ายสืบทอดอำนาจ คนที่มีสมองทั้งหลายย่อมคิดกันได้ว่า มันหมดไปหรือถูกเลี้ยงไข้ไว้เพื่อใช้เป็นข้ออ้างของการสืบทอดอำนาจต่อไปกันแน่

Back to top button