“อนุทิน” แจงสภาฯ แบ่งงบสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้าน ลุยพัฒนาวัคซีนต้าน “โควิด” ดูแลแพทย์-อสม.

"อนุทิน" แจงต่อที่ประชุมสภาฯ วันที่ 2 แบ่งงบสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้าน ลุยพัฒนาวัคซีน ดูแลแพทย์-อสม. ยืนยัน ใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (28 พ.ค.63)​ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ในการพิจารณา พ.ร.ก. กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท

โดนนายอนุทิน กล่าวว่า การใช้เงินกู้ส่วนของงานด้านสาธารณสุขนั้น ได้กำชับว่า ห้ามใช้ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ต้องใช้ทางการแพทย์ นวัตกรรม องค์ความรู้ เครื่องมือทางการแพทย์ ประเทศไทยต้องมีความพร้อม ทั้งเครื่องมือ เวชภัณฑ์ เทคโนโลยี นี่คือนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้

  “ถ้านับคะแนนตอนนี้ ประเทศไทยชนะอยู่ แต่ถ้าจะน็อคเอาท์ต้องมีวัคซีน”

สำหรับงบเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งจัดสรรเพื่อสนับสนุนการทดลองวิจัยและผลิตวัคซีน ซึ่งเหลือเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง

รวมไปถึงการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่แม้จะเป็นอาสาสมัคร โดยในอนาคตจะมีมาตรการดูแลและตอบแทนการทำงานอย่างเข้มแข็งในช่วงที่ผ่านมา

“ผมมั่นใจว่ามันไม่เกิดหรอกครับ second wave แต่ผมก็ไม่ได้ประมาท ถ้ามันเกิด ผมพูดได้คำเดียวว่ากระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะให้การดูแลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย” นายอนุทิน กล่าว

นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังระบุว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าช้า เพราะได้เริ่มเตรียมการรับมือไว้ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 62 หลังจากนั้นได้ออกมาตรการรองรับไปตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถค้นพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายแรกนอกประเทศจีนที่เป็นนักท่องเที่ยว และดูแลรักษาจนหายป่วยสามารถเดินทางกลับประเทศได้ ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-จีน

สำหรับกรณีเกิดการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากในสนามมวยนั้น หลังเกิดความผิดพลาดก็สามารถติดตามค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อมาเข้ารับการรักษาให้หายป่วยได้ทั้งหมด แต่มี 2-3 รายที่เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคประจำตัว

และจากสถิติการรักษาผู้ป่วยของไทยที่ผ่านมาอยู่ในระดับเหนือมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ขณะที่การค้นพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มเติมมาจากกลุ่มที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศตามหลักมนุษยธรรมก็สามารถควบคุมได้

นายอนุทิน กล่าวอีกว่าการขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)​ นั้น เพื่อให้เหมาะสมกับมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีกำหนดใช้ 3 เดือน ต่อทุก 1 เดือน และเชื่อว่าประเทศไทยพร้อมจะเดินต่อ

    “เราไม่ได้เสียหมดจากโควิด-19 แต่ได้จากโควิดด้วยเช่นกัน …สิ่งที่สูญเสียไปวันนี้ จะต้องเอาคืนกลับมา ประเทศไทยจะเป็นที่น่าสนใจจากนานาชาติ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การแพทย์” นายอนุทิน ระบุ

Back to top button