พาราสาวะถี
วันนี้รู้กันว่าการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในระยะที่ 3 จะมีกิจการ กิจกรรมใดได้รับการผ่อนปรนหรือไม่ แต่เท่าที่ฟัง นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แพลมออกมาในการแถลงข่าววานนี้ ก็เป็นที่แน่ชัดว่า กิจการกิจกรรมที่อยู่ในกลุ่มสีแดง เดิมทีจัดวางว่าจะเป็นพวกสุดท้ายที่ได้รับการผ่อนปรนนั้น จะมีบางส่วนได้ขยับการเปิดในการผ่อนปรนหนนี้เลย กิจการดังว่านั้น อาทิ โรงภาพยนตร์ ร้านค้าต่าง ๆ ที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า
อรชุน
วันนี้รู้กันว่าการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในระยะที่ 3 จะมีกิจการ กิจกรรมใดได้รับการผ่อนปรนหรือไม่ แต่เท่าที่ฟัง นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แพลมออกมาในการแถลงข่าววานนี้ ก็เป็นที่แน่ชัดว่า กิจการกิจกรรมที่อยู่ในกลุ่มสีแดง เดิมทีจัดวางว่าจะเป็นพวกสุดท้ายที่ได้รับการผ่อนปรนนั้น จะมีบางส่วนได้ขยับการเปิดในการผ่อนปรนหนนี้เลย กิจการดังว่านั้น อาทิ โรงภาพยนตร์ ร้านค้าต่าง ๆ ที่อยู่ภายในห้างสรรพสินค้า
เนื่องจากนโยบายของท่านผู้นำคือ ลดความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการให้มากที่สุด และน่าจะสอดรับกับการแถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสแรกของปีนี้ โดย ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ที่พบว่าผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีคนเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างมากถึงกว่า 8.4 ล้านคน ดังนั้น มาตรการผ่อนปรนที่จะเคาะกันจะต้องมีเป้าหมายเพื่อลดตัวเลขดังว่านี้ด้วย จึงไม่แปลกใจที่กิจการกิจกรรมกลุ่มสีแดงบางพวกจะได้รับการผ่อนปรนในเที่ยวนี้
อีกด้านต้องอย่าลืมว่า ไม่ได้มีเพียงแค่ภาครัฐโดยศบค.ที่รับฟังความเห็นมาจากคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นด้านหลัก การผ่อนปรนในแต่ละรอบได้มีการรับฟังความเห็นมาจากผู้ประกอบการด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่จะได้รับการผ่อนปรนว่า เมื่อคลายล็อกให้แล้วมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าประเมินจากสองระยะที่ผ่านมา ในแง่ของผู้ใช้บริการกับต้นทุนของผู้ประกอบการในการวางมาตรการรองรับนั้นคงไม่คุ้มกับการลงทุน
แต่นี่คือการเปลี่ยนวิถีชีวิต ที่จะต้องมีฝ่ายลงทุนเพื่อซื้อความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผ่านการผ่อนปรนจนครบหมดแล้ว กลุ่มที่เตรียมการไว้ล่วงหน้า ประชาชนรู้สึกถึงความปลอดภัย ก็จะได้รับอานิสงส์ไปเต็ม ๆ เพียงแต่ว่า ภาครัฐจากที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัดอย่างต่อเนื่องต่อไปแล้ว อีกด้าน เรื่องการเยียวยา ฟื้นฟูยังจะต้องทำอย่างแข็งแรงต่อไปด้วย ไม่ใช่เพียงแค่เรียกความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยเท่านั้น แต่มันหมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย
อีกเรื่องที่ยังแทงกั๊กกันอยู่คือ เวลาของการประกาศเคอร์ฟิว หลังขยับจากช่วงสี่ทุ่มถึงตีสี่เป็นห้าทุ่มถึงตีสี่ จะมีการปรับอีกกระทอก แต่ยังไม่ชัดว่าจะเป็นเที่ยงคืนถึงตีสี่หรือ ห้าทุ่มถึงตีสามดี ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ควรจะเลิกไปเลยก็ได้ เหมือนอย่างที่มีคำถามจากหลายฝ่ายสะท้อนมาว่า โควิด-19 มันเลือกเวลาระบาดหรือไม่ ถ้าไม่ใช่การจำกัดเวลาก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเป้าหมายที่ต้องการควบคุมในแง่ของการมั่วสุมเป็นเพียงคนส่วนน้อย ขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ที่ต้องไปประกอบอาชีพการงานคือคนส่วนใหญ่
ตรงนี้เป็นการมองอย่างแยกส่วนกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะฟังคำอธิบายตั้งแต่โฆษกศบค.ยันไปถึงเนติบริกรประจำรัฐบาล มันมีเหตุและผลรองรับที่พอยอมรับกันได้อยู่ เพียงแต่ว่าระยะยาวหรือหลังการผ่อนปรนจนหมดระยะที่ 4 แล้ว ก็พอจะเห็นหนทางว่าฝ่ายกุมอำนาจคงหมดเหตุผลที่จะต้องคงใช้กฎหมายฉบับนี้อีกต่อไป การถามไถ่มาจากทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่มีกับ วิษณุ เครืองาม นั้นไม่ใช่การถามแค่อยากรู้อย่างแน่นอน และน่าจะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ทำให้รัฐบาลต้องคิดทบทวนด้วยเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจอีกเช่นกันที่ อนุทิน ชาญวีรกูล จะแย้มในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า มั่นใจว่าการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 เป็นไปเพื่อเข้าสู่การผ่อนคลายการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในกรอบที่คณะรัฐมนตรีให้บังคับใช้ 3 เดือน ต่อทุก 1 เดือน คิดว่าครั้งนี้ครบแล้ว (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน) มองว่าประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเดินออกจากสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว แต่ก็ไม่แน่ว่าเป็นการรับสัญญาณมาจากท่านผู้นำหรือว่าหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพูดเอง
อีกด้านที่เข้าใจกันได้คือการมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น อำนาจที่รัฐมนตรีของสองพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลสำคัญทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเคยมีนั้น ถูกรวบไปไว้ในมือของท่านผู้นำแต่เพียงผู้เดียว ด้วยสถานการณ์ที่คลี่คลายจึงน่าจะถึงเวลาที่ต้องยอมคายอำนาจ เพื่อผ่องถ่ายให้เพื่อได้แสดงผลงานกันบ้าง คงอยู่ที่บรรดาลิ่วล้อของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ว่า ควรจะต้องปล่อยมือจากอำนาจที่ใช้อยู่เวลานี้แล้วหรือยัง
ด้านความเคลื่อนไหวของบรรดานักการเมือง เรื่องการเลือกตั้งในระยะเวลาอันใกล้น่าจะเลิกคิดกันไปก่อน อย่างที่ อาทิตย์ อุไรรัตน์ เตือน ใครที่คิดตั้งพรรคใหม่เวลานี้อย่าได้เสียเวลา เพราะเขายังไม่ยอมจัดให้มีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้แน่ อีกนาน แต่ทางการเมืองจะอ่านกันขาดแบบนั้นเสียทีเดียวไม่ได้ หลังเสร็จสิ้นปัญหาโควิดไปแล้ว ฝ่ายกุมอำนาจคงจะประเมินการเมืองเพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเป็นอันดับแรกก่อน
แน่นอนว่า ที่น่าจะได้เลือกตั้งก่อนใครคงเป็นเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ.ทั่วประเทศ เพราะนั่นจะเป็นจุดชี้วัดว่า ผู้สนับสนุนรัฐบาลทั่วประเทศนั้น เมื่อถึงเวลาหย่อนบัตรแล้ว จะเข้าวินกันมากขนาดไหน ตรงนี้ถือเป็นจุดชี้วัดสำคัญผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจำเป็นต้องมีนายกอบจ.เป็นของตัวเอง เนื่องจากเก้าอี้นี้ก็คือหัวคะแนนใหญ่สุดในจังหวัดนั่นเอง ถ้าทิศทางไปในจุดที่ผู้มีอำนาจพอใจ การที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบวาระแต่อย่างใด
ส่วนการแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่นั้น ในทางทฤษฎีตามที่บรรดาเซียนการเมืองทั้งหลายวิเคราะห์ ก็เห็นว่า เหมาะกับเฉพาะพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยเท่านั้น เหตุจากเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ส.ส.เขตเป็นกอบเป็นกำแต่ชวดเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของพรรคตัวจริงเสียงจริง ผู้นำทางจิตวิญญาณหรือระดับนำย่อมมองเห็นแล้วว่า การแตกออกมาตั้งพรรคใหม่ถือเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องที่สุด การส่งสมัครแบบเดิมแล้วได้ส.ส.เต็มที่แต่ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว คงจะมีแต่คนโง่ดักดานเท่านั้นที่จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลง