“ธปท.” ชี้วิกฤต “โควิด” ฉุด ศก.ไทย เดือนเม.ย.ทรุดแรงตาม “ท่องเที่ยว-ส่งออก-ลงทุน”
"ธปท." ชี้วิกฤต "โควิด" ฉุด ศก.ไทย เดือนเม.ย.ทรุดแรงตาม "ท่องเที่ยว-ส่งออก-ลงทุน"
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2563 หดตัวสูงขึ้น จากผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดลงชั่วคราว
โดยภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวสูงขึ้นมากตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลงมาก และมาตรการควบคุมโรคระบาด
ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงต่อเนื่องตามภาวะอุปสงค์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางขึ้นมาก
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัว 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการห้ามเดินทางเข้าประเทศของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเดือนนี้ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปส่งผลกระทบมากต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้
มูลค่าการส่งออกหดตัวสูงที่ 15.9% โดยเป็นการหดตัวสูงในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาก อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดสินค้ายังขยายตัวได้ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรแปรรูป และสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลดีจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายในทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงมาก ทั้งด้านการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่น ประกอบกับเป็นผลจากการเลื่อนวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์และมาตรการปิดเมืองของไทยเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครุนแรงและขยายวงกว้างไปเกือบทั่วประเทศ แม้ในเดือนนี้ภาครัฐมีการทยอยจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวสูงในทุกองค์ประกอบ โดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลงส่งผลให้ผลประกอบการและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงมาก ประกอบกับภาคธุรกิจมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มากจึงชะลอการลงทุนออกไป
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงที่ 17.0% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ 13.8% โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะมีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนของภาครัฐ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเป็นบวกแต่ปรับลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นมาก
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลตามดุลรายได้จากการจ่ายเงินปันผลของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์เป็นสำคัญ