“คลัง” เร่งหารือ “ททท.” เคาะมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว รับหยุดชดเชยสงกรานต์ ช่วงก.ค.นี้!
"คลัง" เร่งหารือ "ททท." เคาะมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว รับหยุดชดเชยสงกรานต์ ช่วงก.ค.นี้ เล็งใช้งบ 4 แสนล้านตามแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง "โควิด"
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้กระทรวงการคลังจะมีการหารือและสรุปมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
เนื่องจากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก ซึ่งทั้งกระทรวงการคลัง และ ททท. จะมีมาตรการออกมาเป็นแพ็คเกจร่วมกัน รวมทั้งช่วงเวลาที่จะใช้มาตรการที่เหมาะสม
โดยนายลวรณ กล่าวว่า มาตรการจะต้องออกมาให้ทันในช่วงวันหยุดชดเชยช่วงสงกรานต์ ที่คาดว่ารัฐบาลจะประกาศหยุดชดเชยในเดือน ก.ค. ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะคาดว่าจะมีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากไม่มีการระบาดรอบ 2 และให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดได้ตามปกติ ซึ่งมีส่วนสำคัญให้คนออกไปท่องเที่ยวตรงตามวัตถุประสงค์ของมาตรการ
สำหรับมาตรการท่องเที่ยวในส่วนของกระทรวงการคลัง อาจจะเป็นมาตรการภาษี เช่น การนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนจะเป็นไม่เกิน 50,000 บาทตามข้อเสนอของภาคเอกชนหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม เพราะก่อนหน้านี้เคยกำหนดไว้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่รอบนี้ต้องมีแรงจูงใจมากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนออกไปท่องเที่ยว
ส่วนการแจกเงินสดให้ไปใช้จ่ายท่องเที่ยวโดยตรงเหมือนกับการแจกเงิน 5,000 บาท/เดือนนั้น คงต้องขอเวลาพิจารณาก่อน เพราะประเด็นสำคัญคือ การทำให้คนออกไปเที่ยว หากแจกเงินแล้วไม่ไปเที่ยวคงไม่เกิดประโยชน์ เพราะมาตรการนี้ต้องการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นหลัก
“กระทรวงการคลังเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวต้องได้รับการดูแลก่อน เพราะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด ไม่มีรายได้เข้ามาในช่วงหลายเดือน นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ ในประเทศก็ยกเลิกวันหยุดยาวทั้งหมด ซึ่งการช่วยการท่องเที่ยว จะเป็นการช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” นายลวรณ กล่าว
ส่วนงบประมาณที่จะมาช่วยฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยว นายลวรณ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการภาษีไม่ได้ใช้เงินอยู่แล้ว ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินที่ ททท.จะเสนอมา สามารถไปใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทได้ เพราะถือว่าเป็นการช่วยฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19