ISO 20022 พลวัตธุรกรรมการเงิน

จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital disruption) สอดผสานพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ทั้งในรูป mobile banking หรือ internet banking ที่เติบโตแบบอัตราเร่ง จนเกิดรูปแบบการชำระเงินของไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Payment) ที่หลากหลาย


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital disruption) สอดผสานพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ทั้งในรูป mobile banking หรือ internet banking ที่เติบโตแบบอัตราเร่ง จนเกิดรูปแบบการชำระเงินของไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Payment) ที่หลากหลาย

นั่นจึงทำให้มีการนำมาตรฐานสากล ISO 20022 มาใช้เป็นมาตรฐานธุรกรรมการรับ-ส่งข้อมูลทางธุรกิจและการเชื่อมโยง (interoperability) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่า digital payment จะเป็นทางเลือกหลักของการชำระเงิน มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนต่ำและสอดคล้องพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2564) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สำหรับ ISO 20022 คือมาตรฐานข้อความที่ใช้สื่อสารในอุตสาหกรรมการเงินสากล เช่น ระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน ระหว่างสถาบันการเงินกับลูกค้าภายในหรือระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเริ่มต้นขึ้นช่วงก่อนปี ค.ศ. 2000 ยุคเริ่มการเติบโตของอินเทอร์เน็ต แต่มีรูปแบบแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน

นั่นจึงเป็นที่มาของการนำเสนอมาตรฐาน ISO 20022 ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารสำหรับการรับ-ส่งข้อความธุรกรรมทางการเงินระหว่างภาคธนาคาร ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินประเภทต่าง ๆ อาทิ ธุรกรรมการโอนเงินและชำระเงิน (payments) ธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ (securities) ธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (trade services) ธุรกรรมการใช้บัตรเครดิต/เดบิต (cards) และธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ (foreign exchanges)

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หลากหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ มีการปรับใช้มาตรฐาน ISO 20022 กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะแคนาดา ที่ได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและภาคธนาคาร เพื่อการนำไปใช้กับระบบการชำระเงินและการซื้อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันกับต่างประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่น มีการปรับใช้กับทั้งระบบการชำระเงิน และระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจการเงินเข้าด้วยกัน

ส่วนประเทศไทย มีการนำมาตรฐาน ISO 20022 มาใช้กับระบบการชำระเงิน ด้วยการพัฒนามาตรฐานข้อความให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง (stakeholders) ทุกภาคส่วน โดยภาคธุรกิจสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้า ส่งใบแจ้งหนี้สำหรับเรียกเก็บเงิน การชำระเงิน และการชำระภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบ Enterprise Resource Planning (ERP)

ที่สำคัญเป็นการสร้างโอกาสให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้นด้วยข้อมูลทางการค้าและการชำระเงิน เช่นเดียวกับภาคธนาคาร จะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินดิจิทัล และต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน เช่น digital lending ส่วนภาครัฐได้รับบริการที่รวดเร็วครบวงจรและรับจ่ายเงินที่โปร่งใสขึ้นเช่นกัน

จากพลวัตทางเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นตัวผลักดันให้มาตรฐาน ISO 20022 มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงินไทย สามารถเชื่อมโยงการชำระเงินกับระบบอื่นได้อย่างไร้ขอบเขตจำกัด แต่เรื่องนี้ถูกหยิบยกและให้ความสำคัญน้อยกันไปหรือไม่.! ช่วงโหมกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลและไทยแลนด์ 4.0 หรือแม้แต่ New Normal ที่พร่ำเพ้อรำพันกันจนเกร่อเมืองตอนนี้ก็ตาม..!!

Back to top button