สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 มิ.ย. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 4 มิ.ย. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังจากตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 2 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังขานรับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.ในวันนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,281.82 จุด เพิ่มขึ้น 11.93 จุด หรือ +0.05% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,112.35 จุด ลดลง 10.52 จุด หรือ -0.34% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,615.81 จุด ลดลง 67.10 จุด หรือ -0.69%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากตลาดปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แต่หุ้นกลุ่มธนาคารของยูโรโซนปรับตัวขึ้นสวนทางตลาดขานรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.72% ปิดที่ 366.25 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,011.98 จุด ลดลง 10.40 จุด หรือ -0.21%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,430.56 จุด ลดลง 56.80 จุด หรือ -0.45% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,341.44 จุด ลดลง 40.97 จุด หรือ -0.64%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากที่ตลาดทะยานขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน ขณะที่แรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร และกลุ่มทรัพยากรถ่วงตลาดลงมากที่สุด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,341.44 จุด ลดลง 40.97 จุด หรือ -0.64%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนรอความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ขณะที่มีรายงานข่าวว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะยังคงจัดการประชุมในสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 12 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 37.41 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 20 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 39.99 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนหรือนับตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.ปีนี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกอ่อนแรงลงยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 22.6 ดอลลาร์ หรือ 1.33% ปิดที่ 1727.4 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 10.3 เซนต์ หรือ 0.57% ปิดที่ 18.061 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 4.5 ดอลลาร์ หรือ 0.52% ปิดที่ 865 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 35.40 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 1,922.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้
ยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.1347 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1237 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2612 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2587 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6937 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6930 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.12 เยน จากระดับ 108.93 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3505 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3485 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.9550 ฟรังก์ จากระดับ 0.9619 ฟรังก์