วัดใจโรงไฟฟ้าถ่านหินขี่พายุ ทะลุฟ้า

ข้อเสนอให้เอาพลังงานทดแทนอย่างอื่น อาทิ แสงแดด ลม ชีวมวล ขยะ ฯลฯ ก็ดูเหมือนจะดี แต่ก็ต้องยอมรับความจริงกันบ้างว่า พลังงานเหล่านี้มีราคาแพง รัฐต้องอุดหนุนหรือไม่ก็ต้องผลักภาระไปให้ประชาชน


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ประเทศไทยยังต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอยู่ถึงร้อยละ 65

การใช้เชื้อเพลิงกระจุกตัวเช่นนี้ ไม่ดีแน่ เพราะก๊าซจากอ่าวไทยอาจจะหมดลงภายใน 6-7 ปีข้างหน้านี้ หากไม่มีการค้นหาแหล่งผลิตใหม่ในอ่าวไทยเพิ่มเติม

ก๊าซ LNG ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาแพงกว่าก๊าซที่ขุดได้จากอ่าวไทยเป็น 1 เท่าตัว ประชาชนต้องใช้ไฟราคาแพงแน่ หากต้องนำเข้าก๊าซมาจริงๆ

นี่ไม่ใช่เรื่องเอามาขู่กันเล่นหรอก แต่มีเค้าจะเป็นจริง เพราะสัมปทานรอบ 21 ก็ยังไม่มีทีท่าจะเปิดได้

ก๊าซจากพม่าก็กำลังจะหมดลงอย่างรวดเร็ว และความหวังจะได้แหล่งพลังงานจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเข้าไปทุกที

ข้อเสนอให้เอาพลังงานทดแทนอย่างอื่น อาทิ แสงแดด ลม ชีวมวล ขยะ ฯลฯ ก็ดูเหมือนจะดี แต่ก็ต้องยอมรับความจริงกันบ้างว่า พลังงานเหล่านี้มีราคาแพง รัฐต้องอุดหนุนหรือไม่ก็ต้องผลักภาระไปให้ประชาชน

นั่นเป็นประการแรก

ประการต่อมาก็คือพลังงานเหล่านี้ มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจ่ายไฟได้อย่างต่อเนื่อง เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ ก็จ่ายไฟได้เฉพาะกลางวันเท่านั้น แต่วันไหนฟ้าเกิดปิดขึ้นมา ก็จ่ายไฟไม่ได้เหมือนกัน

อย่างภาคใต้ตามฤดูกาลปกติที่เรียกกันว่า “ฝน 8 แดด 4” อย่างเนี้ย จะหวังพึ่งพาโซลาร์ เซลล์ได้อย่างไร

ยังไงก็ต้องตั้งโจทย์ไปที่พลังงานหลัก อาทิ ก๊าซ ถ่านหิน นิวเคลียร์ไว้ก่อน พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน เป็นได้แค่เพียงส่วนเสริมเท่านั้น

เมื่อก๊าซธรรมชาติมีความเสี่ยงที่กระจุกตัวมากไป ก็ต้องมองไปที่นิวเคลียร์ ซึ่งดูจะเป็นไปได้ยากที่สุด และเมื่อไม่เอานิวเคลียร์ ก็คงต้องมามองกันที่ถ่านหิน ซึ่งยังคงมีปริมาณสำรองมหาศาลในโลก

ในประการสำคัญที่สุดก็คือ มีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการควบคุมการปล่อยมลสารทางอากาศจำพวกซัลเฟอร์ ไนโตรเจน ฝุ่นละออง และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว

ในยุโรป เช่น เยอรมนี สวิส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ก็ไม่ปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในเยอรมนี นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลถึงกับต่อรองกับประชาชนของเขาเลยว่า ในเมื่อไม่เอานิวเคลียร์ ก็ต้องยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

โรงไฟฟ้าถ่านหินยุคใหม่ ไม่ถึงกับจะควบคุมมลพิษได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่ก็สามารถจะควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยได้ และทุกฝ่ายก็สามารถเข้าไปตรวจสอบได้จากมาตรวัดคำนวณที่เป็นวิทยาศาสตร์

โรงไฟฟ้าแม่เมาะในปัจจุบัน ไม่มีปัญหาเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว เพราะมีการลงทุนติดตั้งเครื่องดักจับมลสาร การทำลายเถ้าถ่าน และการขนส่งถ่านหินในระบบปิด ลงทุนเครื่องจักรเป็นหมื่นล้านบาท

โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ตามแผนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ยังจะมีการลงทุนเพื่อความปลอดภัยในสุขภาพอนามัยชุมชน ยิ่งเสียกว่าโรงไฟฟ้าใดๆ ที่เคยมีมาซะอีก

สร้างระบบปิดในการขนถ่านหินเข้าสู่ที่ตั้งโรงไฟฟ้าตั้งแต่รับจากเรือ ลำเลียงสู่สายพานยกระดับที่มีผ้าคลุมมิดชิด และบางช่วงบางตอน ยังมีการขุดอุโมงค์ลำเลียงถ่านหินเป็นระยะทางถึง 2 กม.ด้วย

ต้นแบบโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ที่ไม่ปล่อยมลสาร และช่วยให้ไฟฟ้าในภาคใต้มีเสถียรภาพ อาจจะเกิดขึ้นที่กระบี่นี้ก็ได้

คงต้องวัดใจและวัดความกล้าหาญของรัฐบาลชุดนี้กันอีกที

Back to top button