ช้อนหัก?พลวัต2015

เมื่อวันอังคาร นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ในฐานะประธานกรรมการสภาพธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคงจะแกว่งตัวในกรอบแคบ (Sideway) ตลอดช่วยที่เหลือของปีนี้ เพราะรับข่าวร้ายจากภายนอกไปหมดแล้ว


วิษณุ โชลิตกุล           

 

เมื่อวันอังคาร นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ในฐานะประธานกรรมการสภาพธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคงจะแกว่งตัวในกรอบแคบ (Sideway) ตลอดช่วยที่เหลือของปีนี้ เพราะรับข่าวร้ายจากภายนอกไปหมดแล้ว

เมื่อวานนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย ร่วงลงไปมากถึง 25 จุดเศษ ก่อนที่จะมีแรงซื้อเข้ามาจากรายย่อย ทำให้ดัชนีฟื้นตัวกลับมาลบไป 4.17 จุด หลายคนอาจจะคิดว่า คำพูดของ ผู้บริหารบริษัทจัดการกองทุนรวม น่าจะเป็นมากกว่าแค่คำปลอบใจ หากไม่บังเอิญว่า เมื่อวานนี้ ตัวเลขขายสุทธิของกองทุนรวมมากถึง 2.2 พันล้านบาท มันตรงกันข้ามกับคำพูดที่ว่า “พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว” ลิบลับ

ส่วนผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ นางเกศรา มัญชุศรี บอกว่า มาตรการขยายกรอบค่าเงินหยวนของประเทศจีนจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติให้ชะลอตัวลงทุนหุ้นไทยระยะสั้น แต่ระยะยาวยังคงพื้นฐานหุ้นไทยยังคงแข็งแกร่งและน่าลงทุน เพราะ บจ.ไทยส่วนใหญ่มีการกระจายลงทุนหรือส่งออกทั่วโลก โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทจดทะเบียนไทยมาจากต่างประเทศกว่า 45%

คำกล่าวของทั้งสองคน เป็นภาพสะท้อนสูตรสำเร็จของความพยายามของจิตวิทยาแบบ “มะนาวหวาน” ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น ที่จะบอกว่า ผลกระทบที่ไทยได้รับนั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยมุมมองเชิงบวก เพื่อให้ปัญหาผ่านพ้นไป แต่คำพูดทำนองนี้ ไม่ได้ให้คำตอบที่ดีกับนักลงทุนได้เลยว่า ตลาดหุ้นจะพลิกกลับมาจากภาวะหมี ขึ้นมาเป็นสภาวะกระทิงได้อย่างไร

สถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ นับจากจุดสูงสุดที่ระดับ 1,620 จุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มาสู่วานนี้ที่ระดับ 1,404 จุด เท่ากับร่วงลงมาประมาณ 13.5% การถดถอยลงดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับมูลค่าซื้อขายที่ลดลง โดยเฉพาะที่ระดับประมาณวันละ 3.2 หมื่นล้านบาทต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่า ถดถอยทั้งราคา และมูลค่าซื้อขาย ถือว่าเข้าสู่ภาวะหมี ที่ยังไม่จบ

ตามทฤษฎีแล้ว ภาวะหมีจะเกิดขึ้นเมื่อดัชนีร่วงลงไปต่อเนื่องพร้อมกับประมาณการซื้อขายที่หดหาย อันเกิดจากความเสื่อมศรัทธาและหวาดผวากับราคาที่ร่วงลง มากกว่า 30% แต่หากไม่ถึง เพียงแค่ 10% อย่างหนี้จะต้องเรียกว่า ปรับฐานยาว ต่างจากมาเกิน 5% ที่เรียกว่าการพักฐานลดความร้อนแรง

สถานการณ์ที่หุ้นร่วงแบบซึมยาวนานหลายเดือนต่อเนื่องกัน อาจจะมีสลับด้วยการรีบาวด์ของราคาหุ้น เมื่อลงลึกหรือเข้าเขตขายมากเกิน ซึ่งบางครั้งการรีบาวด์สั้นๆ อาจจะทำให้นักลงทุนหลงทาง เข้าใจว่า นั่นคือการกลับทิศของดัชนีเพราะสัญญาณเทคนิคระยะสั้นบอกไว้เช่นนี้

ข้อเท็จจริงที่โหดร้ายในตลาด มักจะบอกกับนักลงทุนว่า หากภาพรวมของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย ถือเป็นขีดจำกัดภายนอกที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนในตลาด มีขีดจำกัดในการพุ่งขึ้นของราคา และส่งผลให้ตลาดตกอยู่ในสภาวะหมีที่ซึมยาว ดังที่ตลาดหุ้นไทยเป็นอยู่ยามนี้ การรีบาวด์กลับมักจะเกิดสภาพที่เรียกว่า การเด้งแบบแมวตาย (death cat bounce) ซึ่งเอามาจากข้อเท็จจริงที่ว่า แมวที่หล่นจากที่สูงแม้กระแทกพื้นตายแล้วก็ยังเด้งกลับมาได้

ต้นกำหนดของปรากฏการณ์ การเด้งแบบแมวตายนี้เริ่มต้นจากข้อสังเกตของคอลัมนิสต์ในอังกฤษต่อปรากฏการณ์ซ้ำซากของตลาดหุ้นสิงคโปร์ในอดีต ค.ศ.1985 ที่ตลาดที่ร่วงลงยาวนาน มีการรีบาวด์กลับขึ้นไปช่วงสั้นๆ 1.3 วัน จากนั้นก็ร่วงลงต่อไปที่แนวรับต่ำกว่าเดิม พร้อมกับข้อสรุปที่หลายคนยังไม่ยอมเชื่อง่ายๆ คือ ตลาดหุ้นย่อมมีขีดจำกัดขาขึ้น หากว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจใหญ่กว่าเลวร้ายลงต่อเนื่อง (ไม่นับกรณีวิศวกรรมการเงินของบริษัทบางแห่ง)

ปรากฏการณ์นี้ รู้จักกันในนามของ ช้อนหัก เมื่อนักลงทุนใช้สัญญาณทางเทคนิค เพื่อพิสูจน์ว่าสามารถทำกำไรช่วงขาลงได้หากอ่านสัญญาณออกแม่นยำ

วิธีการหากำไร ทำด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นที่เข้าเขตขายมากเกินไป หรือ ต่ำกว่าพื้นฐานโดยเฉพาะต่ำกว่าบุ๊คแวลูตรงจุดที่นักวิเคราะห์เรียกว่าแนวรับรูปแบบสามเหลี่ยมใหญ่ที่เป็นจุดซื้อหุ้นกลับอีกครั้ง ตามเสียงเรียกหา “ช้อนทองคำ” โดยหวังว่าจะสามารถทำกำไรช่วงสั้นๆ ได้หรือเผื่อบังเอิญหุ้นกลับมาเป็น “ขาขึ้นระลอกใหม่”ได้

ช้อนทองคำนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากอารมณ์ร่วมของนักลงทุนที่เรียกกันวา ท่าทีกระทิง (bill position) หมายถึงความต้องการที่จะเข้าซื้อเพื่อถือไว้ทำกำไร

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยามนี้ เป็นทราบกันดีชนิดปิดไม่มิดว่า กำลังถดถอย เพราะนอกจากฟื้นตัวช้ากว่าที่รัฐบาลมั่นใจแล้ว ยังถูกปัจจัยเสี่ยงมากมายถมทับ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกติดลบ การลงทุนภาคเอกชนหดตัว กำลังซื้อในภาคเกษตรและชนบทติดลบ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนถดถอย ตามด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลกถดถอย และความผันผวนของตลาดเงิน

รวมทั้งล่าสุดดอลลาร์ขาขึ้น และจีนลอยตัวค่าหยวน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของตลาดขาลงภาวะหมีที่ถูกเสริมเข้ามาสมทบในฐานะกองหนุนชั้นยอด ภาวะตลาดซึมลงต่อเนื่อง สลับกับการรีบาวด์สั้นเป็นระยะๆ ล้วนเป็นปัจจัยลบที่ถ่วงรั้งตลาดไม่ให้เป็นขาขึ้นได้ความหวังที่จะมีช้อนทองจึงยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แม้กระทั่งนักวิเคราะห์เองก็พากันสูญเสียความเชื่อมั่นถึงแนวรับที่แท้จริงว่าอยู่ตรงไหนกันแน่

โอกาสช้อนหักจึงเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ไม่ยากในยามนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจอพิษภัยของการเด้งแบบแมวตายซ้ำซาก  

Back to top button