พาราสาวะถี

สัปดาห์นี้สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเราเข้าสู่โหมดจับตาการประชุมศบค.ชุดใหญ่ จะเคาะมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 4 หรือเรียกว่ากลุ่มสุดท้าย โดยมี 12 กิจการกิจกรรมที่อยู่ในข่ายการพิจารณา ทว่าปรากฏการณ์หาดบางแสนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่หวั่นวิตกว่าจะเป็นจุดเกิดเหตุทำให้มีการแพร่เชื้อเหมือนเมื่อคราวสนามมวยลุมพินีหรือไม่ และด้วยเหตุนี้เองผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงประกาศไว้แต่เนิ่น ๆ ขอประเมินสถานการณ์และอาจจะยืดการผ่อนปรนไปถึงระยะที่ 5


อรชุน

สัปดาห์นี้สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเราเข้าสู่โหมดจับตาการประชุมศบค.ชุดใหญ่ จะเคาะมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 4 หรือเรียกว่ากลุ่มสุดท้าย โดยมี 12 กิจการกิจกรรมที่อยู่ในข่ายการพิจารณา ทว่าปรากฏการณ์หาดบางแสนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่หวั่นวิตกว่าจะเป็นจุดเกิดเหตุทำให้มีการแพร่เชื้อเหมือนเมื่อคราวสนามมวยลุมพินีหรือไม่ และด้วยเหตุนี้เองผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงประกาศไว้แต่เนิ่น ๆ ขอประเมินสถานการณ์และอาจจะยืดการผ่อนปรนไปถึงระยะที่ 5

ได้ยินแบบนี้ผู้ประกอบการที่จ่อจะได้รับการผ่อนคลายมีโอกาสหายใจหายคอ อาจจะต้องตั้งตารอต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม หากดูจากทิศทางของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันโดยมาจากสถานที่กักกันของรัฐจัดให้หรือ State Quarantine ทั้งสิ้น ดังนั้น มองแนวโน้มแล้วจึงน่าจะมีข่าวดีมากกว่าข่าวร้าย แต่หากจะเกิดขึ้นคือมีการขยักการผ่อนปรนในระยะสุดท้ายแยกย่อยเป็นเฟส 4/1 4/2 หรืออะไรก็แล้วแต่ จะมีเพียงเหตุผลเดียวคือ ฝ่ายกุมอำนาจต้องการจะหาช่องในการยืดการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปนั่นเอง

เมื่อมองถึงความจำเป็นที่จะคงไว้เพียงเพื่อควบคุมคน (ที่เห็นต่าง) ไม่ใช่ควบคุมโรค ก็ไม่น่าจะเป็นการคุ้มค่ากับการลงทุนเท่าไหร่ แต่ก็จะไว้วางใจรัฐบาลเรือเหล็กไม่ได้ เพราะในสถานการณ์ที่การแก้ไขปัญหาดีเพียงด้านเดียวคือการควบคุมโรคและตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยที่ยังคงมีสารพัดปัญหาให้ต้องสะสางกันอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นปากท้องของประชาชน และความอยู่รอดของบรรดากิจการทั้งหลาย นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท่านผู้นำที่ยอมรับว่าไม่เก่งเศรษฐกิจจะต้องเร่งดำเนินการ

ภายใต้บริบทที่ขบวนของรัฐนาวาสืบทอดอำนาจยังคงถูกตั้งคำถามว่า กว่า 6 ปีที่อยู่ในอำนาจมานั้น ยังไม่ได้แสดงศักยภาพด้านการแก้ไขเศรษฐกิจให้เป็นที่ประจักษ์แม้แต่น้อย มีแต่การแจกแหลกด้วยสารพัดโครงการ สร้างความฮือฮาเป็นบางครั้งและเรียกเสียงชื่นชมจากประชาชนได้แค่บางคราว แต่มองไม่เห็นแนวโน้มของการหลุดพ้นกับดักความยากจน หรือการอยู่ดีกินดี ยิ่งมีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในพรรคสืบทอดอำนาจ ยิ่งทำให้คนคิดและเรียกร้องไปยังท่านผู้นำว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนหัวเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจหรือไม่

สิ่งที่ควรยอมรับความเป็นจริงกันก็คือ ตลอดเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมานั้น การวางแผนและดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการนั้น “มันไม่เวิร์ค” ไม่ต้องมองในมิติอื่น เอาแค่มิติทางการเมืองว่าด้วยเรื่องคะแนนนิยม หากมาตรการแจกแหลกสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนจริง การเลือกตั้งที่ผ่านมา จะต้องถูกแปลงเป็นคะแนนเสียงให้พรรคสืบทอดอำนาจอย่างถล่มทลายแล้ว

อย่างที่เห็น นอกจากไม่ได้ตามเป้าแล้ว ยังพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้น หากไม่ได้กลไกการสืบทอดอำนาจที่วางกับดักกันไว้ และการดูดคนของพรรคการเมืองต่าง ๆ มาเข้าสังกัด โดยพลังดูดมหาศาล ขณะที่มีการล็อกมือล็อกเท้าคู่แข่งจนแทบกระดิกอะไรไม่ได้ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งในทางยุทธวิธีทางการเมือง และชี้ให้เห็นว่ามาตรการทางเศรษฐกิจที่ได้ทำมาภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้น ไม่เป็นที่ถูกใจของประชาชน

บนความท้าทายในสถานการณ์ปัจจุบัน การเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคสืบทอดอำนาจ จึงมีเครื่องหมายคำถามว่า เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของความเป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ให้คนเห็นว่าเป็นพรรคที่มาจากประชาชนและผ่านกระบวนการการเลือกตั้งมาอย่างภาคภูมิแล้วเช่นนั้นใช่หรือไม่ เพราะหลังโควิด-19 ถ้าไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว เชื่อได้ว่ากลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เคยจุดกระแสไล่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก่อนหน้านั้น ต้องรวมตัวกันอีกครั้งแน่

ถือได้ว่าโชคดีที่มีโควิด-19 เข้ามาเป็นระฆังช่วยชีวิต ดังนั้น ในระหว่างที่สาละวนกับการแก้ไขโควิด-19 อีกด้านก็ต้องจัดทัพทางการเมืองกันใหม่ เตรียมพร้อมรับมือกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะกลับมา แน่นอนว่า ถ้าจะไม่ให้ม็อบปัญญาชนจุดติด ก็ต้องลดเงื่อนไขที่เป็นจุดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นฝ่ายตรงข้าม การไม่ยอมให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งถือเป็นจุดตายของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ชัดเจนว่า การมีส.ว.ลากตั้งไว้เลือกนายกฯ นั้น ยุบสภากี่ครั้งก็ยังกลับมาได้อีก

เมื่ออ่านเกมเห็นกันอยู่ว่า สิ่งที่บรรดาเหล่าปัญญาชนพากันเรียกร้องนั้น มันจุดติด ขณะเดียวกันปัญหาความเดือดร้อนที่รออยู่ข้างหน้าก็เห็นเช่นกันว่าหนักหนาสาหัสเป็นแน่ เมื่อเป็นเช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงในบางด้านที่อาจจะไม่มีใครคาดคิดก็อาจมีความเป็นไปได้ เช่น ท่านผู้นำอาจจะถอยฉากแล้วดันใครบางคนที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นนักการเมืองอย่างการเลือกตั้งมากุมบังเหียนแทน แบบนี้ก็ลดเงื่อนไขของฝ่ายที่จะก่อม็อบไปได้ในระดับหนึ่ง

หากผนวกเข้ากับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณากันอยู่เวลานี้ที่ต่างเห็นตรงกันว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ ทำให้คนเห็นว่าเป็นไปได้ ฝ่ายกุมอำนาจและสืบทอดอำนาจไม่ได้ดื้อดึง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษายื่นไว้ก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 เท่ากับว่า ถ้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเดินเกมตามนี้ มันก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ม็อบจุดประกายความหวังอีก อยู่ที่ว่าจะกล้าเสียสละเพื่อรักษาอำนาจที่ตัวเองปั้นมากับมือหรือไม่

กระนั้นก็ตาม ก่อนจะไปถึงตรงนั้น มีคำถามว่าแล้วปัญหาภายในพรรคสืบทอดอำนาจเคลียร์กันจบหรือไม่ ในเมื่อเจ้าของพรรคตัวจริงเสียงจริงเข้ามาดูแลแบบเต็มตัวแล้ว แรงกระเพื่อมต่าง ๆ ก็จะหายไป ฝ่ายที่ถูกเขี่ย ถ้าท่านผู้นำไม่อยากเสี่ยงด้วยการหาเทคโนแครตกลุ่มใหม่เข้ามาช่วยงาน โดยเลือกใช้บริการทีมงานเดิม เพียงแต่อาจลดบทบาทเพื่อเลี่ยงแรงปะทะทางการเมือง แค่นี้ก็ปัญหาก็น่าจะทุเลาเบาบางไปได้ ส่วนจะลากยาวกันไปถึง 4 ปีหรือไม่ ตรงนี้ต้องดูการแก้ปัญหาหลังโควิดคลี่คลายว่าทำได้ดีขนาดไหน

Back to top button