ดูวัวให้ดูหาง..ดูนางให้ดูแม่
จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ตลาดหุ้นไอพีโอ (หุ้นที่มีการซื้อขายเป็นครั้งแรกให้ประชาชนทั่วไป) ช่วงครึ่งปีแรก เงียบเหงาและหยุดชะงักลงไป จากความไม่แน่นอนและความผันผวนเชิงลบอย่างหนัก ทำให้การผลักดัน “หุ้นไอพีโอ” เข้าตลาดหุ้นช่วงดังกล่าว เกิดความเสี่ยงทั้งเรื่องการกำหนดราคา การกระจายหุ้นและราคาต่ำจองหลังเข้าเทรด เรียกว่าเป็น “ความเสี่ยงมหันต์” เลยทีเดียว
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ตลาดหุ้นไอพีโอ (หุ้นที่มีการซื้อขายเป็นครั้งแรกให้ประชาชนทั่วไป) ช่วงครึ่งปีแรก เงียบเหงาและหยุดชะงักลงไป จากความไม่แน่นอนและความผันผวนเชิงลบอย่างหนัก ทำให้การผลักดัน “หุ้นไอพีโอ” เข้าตลาดหุ้นช่วงดังกล่าว เกิดความเสี่ยงทั้งเรื่องการกำหนดราคา การกระจายหุ้นและราคาต่ำจองหลังเข้าเทรด เรียกว่าเป็น “ความเสี่ยงมหันต์” เลยทีเดียว
แต่ความเคลื่อนไหวที่ซ่อนเร้นช่วงวิกฤติดังกล่าว นั่นคือหลายบริษัทอยู่ระหว่างกระบวนการ Spin-off หรือการนำบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม แยกออกมาเสนอขายหุ้นไอพีโอและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้เงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของแต่บริษัทที่แตกต่างกันไป
ว่ากันตามหลักการทำให้ “บริษัทแม่” ลดภาระการดูแลบริษัทลูก โดยเฉพาะ “เงินลงทุน” จากเดิมบริษัทแม่ต้องคอยสนับสนุนด้วยเหตุว่าบริษัทลูกไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเองได้ หรือไม่ก็ต้องแลกภาระต้นทุนการเงินสูงมากเกินไป และอีกนัยหนึ่ง “บริษัทลูก” จะมีราคาหุ้นอ้างอิงเกิดขึ้นในตลาดฯ นั่นทำให้บริษัทแม่สะท้อนมูลค่าหุ้นชัดเจนมากขึ้น
การ Spin-off จึงทำให้บริษัทลูกมีอิสระต่อการบริหารจัดการมากขึ้น การเสนอขาย IPO ทำให้สามารถระดมทุนด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากบริษัทแม่ ลดความซ้อนทับเรื่องการบริหารงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานและโปร่งใส สะท้อนต่อภาพลักษณ์บริษัทต่อนักลงทุนอีกด้วย
แต่สิ่งที่ต้องแลกมา..หนีไม่พ้นผลกระทบต่อผลดำเนินงานและฐานะการเงิน การสูญเสียส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทลูก และการเกิด Dilution Effect เนื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัทแม่จะลดลง หลังการเพิ่มทุนด้วยการออกหุ้นไอพีโอ ทำให้มูลค่าจะถูกลดทอนลงไปด้วย แต่อาจลดความเสี่ยงด้วยวิธีการให้สิทธิการจองซื้อหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน (Pre-emptive right) อีกจุดคืออาจทำให้เกิด “ขัดแย้งผลประโยชน์” ได้
โดยบริษัทที่มีการ Spin-off คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เตรียมการขายหุ้นไอพีโอบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR จำนวนไม่เกิน 3,000 ล้านหุ้น (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการยื่นและรอการอนุมัติไฟลิ่ง) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เตรียมขายหุ้นไอพีโอบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP จำนวน 1,374 ล้านหุ้น (ก.ล.ต.อนุมัติและเริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว)
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เตรียมขายหุ้นไอพีโอบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM จำนวน 109.30 ล้านหุ้น (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการยื่นและรอการอนุมัติไฟลิ่ง) บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เตรียมขายหุ้นไอพีโอบริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV จำนวน 64 ล้านหุ้น (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการยื่นและรอการอนุมัติไฟลิ่ง) บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เตรียมขายหุ้นไอพีโอบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT จำนวน 444.78 ล้านหุ้น (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการยื่นและรอการอนุมัติไฟลิ่ง)
บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB เตรียมขายหุ้นไอพีโอบริษัท ลาเท็กซ์ ซิสเทมส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LS จำนวน 132.43 ล้านหุ้น (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการยื่นและรอการอนุมัติไฟลิ่ง) บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG เตรียมขายหุ้นไอพีโอบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC จำนวน 600 ล้านหุ้น (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการยื่นและรอการอนุมัติไฟลิ่ง)
ความได้เปรียบของหุ้นไอพีโอที่เกิดจากการ Spin-off นั่นคือชื่อเสียงบริษัทแม่ที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว แต่นั่นไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สิ่งต้องพึงคำนึง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอุตสาหกรรม-ความสามารถในการแข่งขัน-วัตถุประสงค์การระดมทุน-งบการเงิน-ผู้ถือหุ้นเดิมและภาวะตลาดช่วงดังกล่าว
ดังนั้นหุ้นไอพีโอประเภทดังกล่าว..เป็นได้ทั้งโอกาสและวิกฤติเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ต้องจดจำกันไว้คือ “ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” ดั่งเคยเกิดขึ้นกับหุ้นไอพีโอที่มาจากการ Spin-off จนเป็นที่ประจักษ์กันมาแล้ว.!!