SCB ก้าวสู่ต่างประเทศ

หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ทำภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กร ภายใต้กลยุทธ์ “กลับหัว ตีลังกา” แล้วเสร็จ...สร้างให้ SCB เป็นองค์กรแห่งอนาคต หรือ The Future Bank ที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน


สำนักข่าวรัชดา

หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ทำภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กร ภายใต้กลยุทธ์ “กลับหัว ตีลังกา” แล้วเสร็จ…สร้างให้ SCB เป็นองค์กรแห่งอนาคต หรือ The Future Bank ที่สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

รวมทั้งจัดทัพแม่น้ำ 4 สายหลัก ผ่าน 4 ผู้จัดการใหญ่ “สารัชต์ รัตนาภรณ์” “อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์” “อรพงศ์ เทียนเงิน” และ “ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” เพื่อสู้ศึกแบงก์ที่แข่งเดือดเลือดพล่านในขณะนี้

สเต็ปต่อไปเป็นเรื่องการเก็บกวาดหลังบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ซึ่งล่าสุดดึง “มาณพ เสงี่ยมบุตร” มานั่งเก้าอี้รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน (Chief Financial Officer : CFO)

การตั้ง CFO ใหม่ครั้งนี้น่าจับตา…จะบ่งบอกสู่การหันหัวเรือไปต่างประเทศมากขึ้นหรือไม่..?

หลังจากก่อนหน้านี้ SCB บุกไปตีเมืองขึ้นที่จีน เมียนมา และกัมพูชา มาแล้ว

ถ้าไปดูแบ๊กกราวด์ของ “มาณพ” ถือว่าไม่ธรรมดา…เป็นลูกหม้อของแบงก์ใบโพธิ์มานาน โดยมีประสบการณ์ด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุนต่างประเทศ มากว่า 20 ปี…

“มาณพ” เป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ SCB บุกตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ โดยเฉพาะตลาดจีน เมียนมา และกัมพูชา และเป็นผู้ริเริ่มการลงทุนและพัฒนาความร่วมมือทางด้านฟินเทคจีน และสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซจีนของธนาคาร

นอกจากนี้ ยังมีส่วนทำให้ SCB คว้ารางวัล Best Local Bank in Southeast Asia for Belt & Road Award 3 ปีซ้อนจากนิตยสาร Asia Money (ปี 2560-2562) และรางวัล Best Belt & Road Bank in Thailand โดยนิตยสาร Finance Asia (ปี 2561) อีกด้วย

โดยก่อนที่จะมารับตำแหน่ง CFO…“มาณพ” นั่งรองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business Function…เขาจึงมีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนต่างประเทศ

แหม๊…ดึงคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนต่างประเทศมาคุมการเงินอย่างนี้…ไม่รู้ว่า “เฮียอาทิตย์ นันทวิทยา” แอบคิดอะไรอยู่หรือเปล่าน๊า…

จะว่าไปก็น่าเห็นใจบรรดานายแบงก์ยุคนี้…มีโจทย์ท้าทายรอบด้าน ตั้งแต่ถูกกระแสดิสรัปชั่น ทำให้การหาค่าธรรมเนียมไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน ตามมาด้วยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติที่เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS 9) ที่กดดันผลประกอบการ

ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อค่อนข้างจำกัด จากภาวะเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เติบโตในกรอบจำกัด…แล้วยังมีเชื้อไวรัสร้ายโควิด-19 ซ้ำเติมอีก

ดังนั้น ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ก็เท่ากับรอวันตาย…

ดูได้จากผลประกอบการของหลาย ๆ แบงก์ที่ถดถอยลงทุกปี (ไม่นับรวมกำไรพิเศษที่เป็นภาพมายาให้ดีใจประเดี๋ยวประด๋าว)

นั่นอาจเป็นโจทย์บีบคั้นให้ SCB ต้องออกไปล่าอาณานิคมเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ แทนที่จะปักหลักอยู่กับตลาดเดิม ๆ เท่านั้น

ก็น่าคิดว่า การดึง “มาณพ” มาคุมการเงินแบงก์ใบโพธิ์ครั้งนี้ อาจเห็นอะไรที่หวือหวามากขึ้น…เพราะอย่างน้อยคนที่มาคุมการเงิน ก็รู้ข้อมูลต่างประเทศดีอยู่แล้ว

ไม่แน่ในอนาคต SCB อาจทำบิ๊กเซอร์ไพรส์ไปซื้อแบงก์ในต่างประเทศเข้ามาอยู่ในพอร์ตบ้างก็ได้…ใครจะไปรู้

ใช่มั้ยค่ะ “เฮียอาทิตย์”

…อิ อิ อิ…

Back to top button