สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 มิ.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 มิ.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุแนว 27,000 จุดเมื่อวันศุกร์ (5 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งทะยานขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ WTI ก่อนการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสในวันเสาร์นี้ (6 มิ.ย.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายเวลาปรับลดการผลิตน้ำมัน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,110.98 จุด เพิ่มขึ้น 829.16 จุด หรือ +3.15%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,193.93 จุด เพิ่มขึ้น 81.58 จุด หรือ +2.62% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,814.08 จุด เพิ่มขึ้น 198.27 จุด หรือ +2.06%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (5 มิ.ย.) และปรับตัวขึ้นในสัปดาห์นี้มากที่สุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ หลังขานรับสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของโรคโควิด-19

ดัชนี Stoxx Europe 600 พุ่งขึ้น 2.48% ปิดที่ 375.32 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,197.79 จุด เพิ่มขึ้น 185.82 จุด หรือ +3.71%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,847.68 จุด เพิ่มขึ้น 417.12 จุด หรือ +3.36% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,484.30 จุด เพิ่มขึ้น 142.86 จุด หรือ +2.25%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (5 มิ.ย.) โดยปิดที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 เดือน และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้น หลังมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,484.30 จุด พุ่งขึ้น 142.86 จุด หรือ +2.25%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 5% เมื่อวันศุกร์ (5 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากข่าวที่ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะประชุมกันในวันเสาร์นี้ (6 มิ.ย.) เพื่อหารือเรื่องการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก และราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจะทำให้อุปสงค์น้ำมันเพิ่มขึ้น

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 2.14 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 39.55 ดอลลาร์/บาร์เรล และปิดพุ่งขึ้น 11.4% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 2.31 ดอลลาร์ หรือ 5.8% ปิดที่ 42.30 ดอลลาร์/บาร์เรล และปิดพุ่งขึ้น 11.8% ในรอบสัปดาห์นี้

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อวันศุกร์ (5 มิ.ย.) สวนทางกับตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้น เนื่องจากนักลงทุนได้เทขายทองเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หลังจากการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 44.4 ดอลลาร์ หรือ 2.57% ปิดที่ 1,683  ดอลลาร์/ออนซ์ และร่วงลงราว 3.9% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 58.2 เซนต์ หรือ 3.22% ปิดที่ 17.479 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 34.6 ดอลลาร์ หรือ 4% ปิดที่ 830.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 29.80 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 1,952.60 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (5 มิ.ย.) โดยนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนพ.ค.

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.27% สู่ระดับ 96.9360

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.60 เยน จากระดับ 109.12 เยน และดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9621 ฟรังก์ จากระดับ 0.9550 ฟรังก์ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3432 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3505 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1294 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1347 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าแตะที่ระดับ 1.2670 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2612 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าสู่ระดับ 0.6967 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6937 ดอลลาร์สหรัฐ

 

Back to top button