กองทุน SSFX กร่อย

กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (Super Saving Fund Extra หรือ SSFX)


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (Super Saving Fund Extra หรือ SSFX)

กองทุนนี้มีกำหนดเวลาขายช่วง 1 เมษายน–30 มิถุนายน 2563

ผ่านมา 2 เดือนแรกของการเสนอขาย

มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) เพียง 2,165.5 ล้านบาท

ตัวเลขนี้ หากเทียบกับที่สมาคม บลจ.คาดการณ์ไว้ว่า จะมีเม็ดเงินเข้ามา 5-6 หมื่นล้านบาท

ถือว่าห่างกันค่อนข้างมากเลยล่ะ

ประเด็นของปัญหาเท่าที่มีการพูดคุยมามีหลายสาเหตุ ทั้งกำลังซื้อลดลง หลายคนอาจจะรอในช่วงเดือนสุดท้าย (มิ.ย. 63) และรอจังหวะตลาดหุ้นปรับฐาน ระยะเวลาการถือครองนานเกินไป (10 ปี) ฯลฯ

ทว่า ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด

หากดีดลูกคิดคำนวณ หรือประเมินกันใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับยอดกองทุน SSFX

ตัวเลขเอยูเอ็มก็ไม่น่าจะถึงตามที่คาดกันไว้

น่าลุ้นว่าจะถึง 5 พันล้านบาท หรือ 1 หมื่นล้านบาท อาจจะยังเหนื่อยเลย

อย่างที่เคยมีวิพากษ์ วิจารณ์กันเกี่ยวกับกองทุนทั้ง SSF และ SSFX

รูปแบบของกองทุนไม่ค่อยตอบโจทย์กับคนที่ต้องการซื้อมากนัก จากประเด็นทั้งเรื่องสิทธิลดหย่อนภาษีที่ลดลง และระยะเวลาการถือครองที่ยาวนาน 10 ปี

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

ได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนดังกล่าว นัยว่าเพื่อช่วยกระตุ้นการซื้อ พร้อมกับการแนะนำการเลือกกองทุน

เริ่มต้น ก.ล.ต.ระบุว่า คนที่จะซื้อมีเวลาตัดสินใจถึง 30 มิถุนายนนี้เท่านั้น (สงสัยไม่น่าจะมีการขยายเวลา)

พร้อมกับแนะนำการเลือกซื้อกองทุน (SSFX) ที่เหมาะสมกับตัวเอง

เริ่มจาก ขั้นตอนที่  1 สำรวจเป้าหมายการลงทุน

นั่นคือ สิทธิลดหย่อนภาษีจากกองทุน SSF (ปกติ) จำนวน 2 แสนบาท ที่เป็นคนละวงเงินกับ SSF ปกติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ และประกันบำนาญ

การลงทุนที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงิน ผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนใน SET หรือ mai

สัดส่วนการลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละแห่งจะออกแบบกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์ลงทุนต่างกันไป เช่น เน้นหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแกร่ง เน้นหุ้นกลาง-เล็ก ลงทุนตามดัชนี

การลงทุนที่เตรียมไว้ใช้ยามเกษียณ ยิ่งเริ่มต้นเร็วจะยิ่งได้เปรียบ

พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มว่า

จากข้อมูลในอดีตพบว่า “การลงทุนระยะยาว” มักให้ผลตอบแทนที่ดี

และการลงทุนใน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน มีระยะเวลา 10 ปี

ก็เป็นเวลาที่นานพอจะเห็นแนวโน้มของการเติบโตในระยะยาวได้ แต่ต้องพิจารณาความเสี่ยงร่วมด้วย

มาถึง ขั้นตอนที่ 2 เลือก “กองทุน” ที่จะลงทุน

ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563 มีกองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียนให้เลือกลงทุน 18 กองทุน จาก “บลจ.” 14 แห่ง

มีการแนะนำเลือกกองทุนให้เหมาะกับตัวเอง ด้วยการศึกษาหนังสือชี้ชวน (Fund Fact Sheet)

เช่น 1.ดูนโยบายลงทุนของกองทุน ว่าลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใดบ้าง

2.ราคาหลักทรัพย์ที่จะลงทุนมีความผันผวนเพียงใด โดยดูจากความผันผวนของผลการดำเนินงานในอดีต กลุ่มหุ้นที่เน้นลงทุน เช่น ลงทุนในหุ้นบริษัททั่วไป บริษัทขนาดเล็ก-กลาง บริษัทขนาดใหญ่ หรือลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม และมีการกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือไม่

3.ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม คือ จะอยู่ในระดับ 5 ขึ้นไป ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง

4.ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนที่จะได้รับ

5.อื่น ๆ เช่น กองทุนมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลหรือไม่ เงื่อนไขการสับเปลี่ยนกองทุนมีหรือไม่ เงินลงทุนขั้นต่ำ
ส่วนขั้นตอนที่ 3 ตัดสินใจลงทุน

ก.ล.ต.แนะนำส่งท้ายว่า SSFX เป็นกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข

คือ ถือให้ครบ 10 ปี ถ้าซื้อเกินสิทธิที่จะได้รับลดหย่อน (คือ เกิน 200,000 บาท) ส่วนที่เกินก็ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้

หากเตรียมตัวให้พร้อมทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว ก็พร้อมที่จะลงทุนได้

Back to top button