สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 มิ.ย. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 มิ.ย. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) ขานรับมุมมองบวกที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวหลังจากทั้ง 50 รัฐของสหรัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มสายการบินดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้ปัจจัยหนุนจากคำสั่งซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,572.44 จุด พุ่งขึ้น 461.46 จุด หรือ +1.70% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,232.39 จุด เพิ่มขึ้น 38.46 จุด หรือ +1.20% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,924.75 จุด เพิ่มขึ้น 110.66 จุด หรือ +1.13%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากตลาดปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนในช่วงที่ผ่านมา โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเฮลธ์แคร์นำตลาดร่วงลง
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.32% ปิดที่ 374.12 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,175.52 จุด ลดลง 22.27 จุด หรือ -0.43%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,819.59 จุด ลดลง 28.09 จุด หรือ -0.22% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,472.59 จุด ลดลง 11.71 จุด หรือ -0.18%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับหนี้สินของบริษัทในภาคเอกชน โดยหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มเฮลธ์แคร์ถ่วงตลาดลงมากที่สุด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,472.59 จุด ลดลง 11.71 จุด หรือ -0.18%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% เมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลกับรายงานข่าวที่ว่า ซาอุดีอาระเบียประกาศเพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือนก.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนยังผิดหวังที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ที่มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปเพียงเดือนเดียว
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 1.36 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 38.19 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.50 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 40.80 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังดีดตัวขึ้นจากคำสั่งซื้อเก็งกำไรของนักลงทุน หลังราคาดิ่งลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 22.1 ดอลลาร์ หรือ 1.31% ปิดที่ 1,705.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 41.4 เซนต์ หรือ 2.37% ปิดที่ 17.893 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 30.8 ดอลลาร์ หรือ 3.71% ปิดที่ 861.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 84.30 ดอลลาร์ หรือ 4.3% ปิดที่ 2,036.90 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายสกุลเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่นสกุลเงินยูโร ท่ามกลางความหวังที่ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.32% สู่ระดับ 96.6279 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.33 เยน จากระดับ 109.60 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9568 ฟรังก์ จากระดับ 0.9621 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3363 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3432 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1303 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1294 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2722 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2670 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7020 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6967 ดอลลาร์สหรัฐ