หุ้นไทยปนเปื้อนความเสี่ยง
กระแส “ฟันด์โฟลว์ฟีเวอร์” ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นร้อนแรง.! ท่ามกลางคำถามเกิดขึ้นตามมาเช่นกันว่า ขึ้นเยอะเกินไปหรือไม่.!? จะไปต่อได้อีกไหม.!? ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาจริงหรือ..!? จะอยู่นานแค่ไหน.!? ดูเหมือนเป็นคำถามง่าย ๆ แต่ไร้คำตอบสุดท้ายที่ชัดเจน
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
กระแส “ฟันด์โฟลว์ฟีเวอร์” ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นร้อนแรง.! ท่ามกลางคำถามเกิดขึ้นตามมาเช่นกันว่า ขึ้นเยอะเกินไปหรือไม่.!? จะไปต่อได้อีกไหม.!? ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาจริงหรือ..!? จะอยู่นานแค่ไหน.!? ดูเหมือนเป็นคำถามง่าย ๆ แต่ไร้คำตอบสุดท้ายที่ชัดเจน
แต่มีตัวเลขที่พอจับต้องได้นั่นคือ “หุ้นไทยแพงสุดในเอเชีย” อ้างอิงจากตัวเลขอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เกินกว่า 20 เท่า (สูงสุดเป็นประวัติการณ์) เทียบกับตัวเลข P/E ตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย เฉลี่ยอยู่ระดับ 14-17 เท่า แต่จุดเด่นของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่สภาพคล่องสูงมาก
นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “ฟันด์โฟลว์” ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย แต่ด้วยกับดัก P/E ที่สูงมาก ทำให้การคงอยู่ของเม็ดเงินต่างชาติ จึงมีกรอบระยะเวลาสั้น ๆ และนั่นหมายถึงที่นักลงทุนต่างชาติต้องถอนเงินลงทุนออกไป ที่สำคัญดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาถึง 45% จากระดับ 1,000 จุด ช่วงเดือนมี.ค. 63 สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ 30% เท่านั้น นั่นเท่ากับว่า “หุ้นไทยมาไกลกว่าเพื่อน” ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดแรงเทขายได้เร็วขึ้น
จุดที่ทำให้หุ้นไทยและภูมิภาคเอเชีย ปรับตัวขึ้นภายใต้เศรษฐกิจที่เปราะบาง เป็นผลสืบเนื่องจากสภาพคล่องล้นระบบจากเม็ดเงินที่แต่ละประเทศอัดฉีดออกมาก แต่ด้วย “อัตราดอกเบี้ยขาลง” ทำให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ต่าง ๆ ปรับ ตัวลงไปด้วย จึงทำให้เม็ดเงินจึงไหลเข้าสู่ตลาดทุนทั่วโลก
ในแง่มุมนักเก็งกำไร..นี่อาจเป็นนาทีทองของการเก็งกำไร เพราะด้วยมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่น สามารถเข้า-ออกได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงเกิดปรากฎการณ์ “สลับกลุ่มเล่น” ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มบลูชิพอย่าง “พลังงาน-ไฟฟ้า-ธนาคาร-สื่อสาร” วนเวียนหมุนเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
หากมองในเชิงพื้นฐาน..ถือว่าเปราะบางอย่างยิ่ง เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ยึดโยงอยู่กับการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและส่งออกเป็นหลัก แต่ด้วยวิกฤติโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวภาคธุรกิจท่องเที่ยวและส่งออกเป็นไปอย่างช้า ๆ แม้ว่าแพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีขึ้น แต่ด้วยกำลังซื้อที่หดหายไปจากบาดแผลโควิด-19 ทำให้กระตุ้นได้เพียงบางส่วนหรือเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
ปัญหาคือ “ไทยต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศ” แต่ด้วยเงื่อนไขการเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพ กอรปกับกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ว่านี้ “ถูกบั่นทอน” จากพิษโควิด-19 ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับการส่งออกถูกข้อจำกัดเรื่องดีมานด์ที่ชะลอตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี ทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นเชื่องช้าไม่แพ้กัน..!!
จากโลกแห่งความเป็นจริงทางเศรษฐกิจดังกล่าว..ดูไม่สอดคล้องกับโลกมายาที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้..จึงกลับมาสู่คำตอบที่ว่า “ตลาดหุ้นไทยแพงเกินไป” ตามนิยามว่าด้วยเรื่อง “ปัจจัยพื้นฐาน” แต่ในนิยามว่าด้วย “การเก็งกำไร” อาจถือเป็นช่วงจังหวะที่ดีก็เป็นได้
หาก “รากฐานของบ้านคือเสาเข็ม” ฉันใดก็ฉันนั้น “ปัจจัยพื้นฐาน” ก็เปรียบดั่ง “รากแก้วตลาดหุ้น” เช่นกัน และด้วยพื้นฐานตัวเลขเศรษฐกิจที่เปราะบางเช่นนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ จึงปนเปื้อนไปด้วยความเสี่ยง เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน