สัญญาณดี & ร้ายบาทแข็ง.!?

การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของ “ค่าเงินบาท” มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากระดับ 32.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 31 มี.ค. 63 มาจนถึงล่าสุด 12 มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 30.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมา 1.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 5.78%


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของ “ค่าเงินบาท” มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากระดับ 32.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 31 มี.ค. 63 มาจนถึงล่าสุด 12 มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 30.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นมา 1.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 5.78%

ปรากฏการณ์ “เงินบาทแข็งค่า” ที่เกิดขึ้น นัยสำคัญเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่าลงตามสัญญาณพร้อมผ่อนคลายด้วยทุกเครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ผนวกปัจจัยอื่น ๆ เกิดขึ้นช่วงที่มีความไม่แน่นอนเรื่องวิกฤติโควิด-19 กลายเป็นปัจจัยเชิงหนุนให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น

ปัจจัยร่วมเชิงหนุนที่ว่า คือ การส่งออกทองคำสูงขึ้น จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่มากขึ้น ภายใต้ความกังวลต่อความเสี่ยงของโควิด-19 เห็นได้ชัดจากเดือนเม.ย. มียอดสุทธิของการส่งออกทองคำอยู่ระดับ 2,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งทำให้ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดรอบ 7 ปี ที่ระดับ 1,765.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

การปรับสถานะการลงทุนและสภาพคล่องของเงินทุน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้ “เงินบาทแข็งค่า” โดยมีการปรับสถานะเงินฝากและเงินลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวม FIF และนักลงทุนไทย ผนวกมีการส่งสภาพคล่องกลับของบริษัทในเครือจากต่างประเทศ และการชำระคืนสินเชื่อทางการค้าจากคู่ค้าต่างประเทศในจำนวนเงินค่อนข้างสูงในรอบหลายปี

มีการประเมินว่า กรอบการแข็งค่าของเงินบาทปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่สุ่มเสี่ยงการระบาดระลอก 2 นั่นหมายถึงผลเสียหายที่จะเกิดกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกรณีเฟดออกมาส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยต่ำอีก 2 ปี ส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนตัวต่อเนื่อง บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “เงินบาท” มีโอกาสแข็งค่าต่อไป

ขณะที่สัญญาณจากธปท.กำลังอยู่ระหว่างการติดตามธุรกรรมทางการเงิน ที่อาจมีผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาท คือธุรกรรมของกลุ่มผู้ค้าทองคำ โดยเฉพาะช่วงที่ปริมาณการส่งออกทองคำ อยู่ระดับสูง และการทยอยกลับเข้าซื้อพันธบัตรระยะต่ำกว่า 1 ปี ที่สะท้อนการกลับเข้ามาพักเงินระยะสั้นอีกครั้งของนักลงทุนต่างชาติ และอาจพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้เช่นกัน

สำหรับตลาดหุ้นไทย “ค่าเงินบาทแข็ง” สะท้อนได้ทั้งเชิงบวกและลบต่อบริษัทจดทะเบียน กล่าวคือ “มีผลเชิงลบ” ต่อบริษัทผู้ประกอบการส่งออก ที่ชัดเจนหนีไม่พ้นกลุ่มอาหาร กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มปิโตรเคมี ที่ไม่เพียงเผชิญกับดีมานด์ที่ลดลง แต่ยังท้าทายต่อขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกด้วย

แต่ “มีผลเชิงบวก” ต่อบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างการลงและต้องพึ่งพาเงินกู้สกุลต่างประเทศ นั่นคือกลุ่มพลังงานและกลุ่มไฟฟ้า แม้ว่ากำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีก็ตาม แต่นั่นจะถูกสะท้อนต่อตัวเลขบรรทัดสุดท้ายของงบการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไมได้

มุมมองจากภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่หวังพึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก “การแข็งค่าของเงินบาท” ที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ จะกลายเป็นตัวบั่นทอนหรือฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว..!!

Back to top button