รถไฟฟ้าสีส้ม ส่งกลิ่นล็อกสเปก.?
ไทม์ไลน์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) และงานเดินรถตลอดเส้นทาง มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เริ่มออกมาชัดเจนว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดคลอดเกณฑ์ทีโออาร์เดือน ก.ค. เปิดให้ยื่นซองประมูลเดือน ต.ค. และสรุปผลประมูลภายในปีนี้.!?
สำนักข่าวรัชดา
ไทม์ไลน์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) และงานเดินรถตลอดเส้นทาง มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เริ่มออกมาชัดเจนว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดคลอดเกณฑ์ทีโออาร์เดือน ก.ค. เปิดให้ยื่นซองประมูลเดือน ต.ค. และสรุปผลประมูลภายในปีนี้.!?
แต่มีพรายกระซิบมาว่า..ช่วงนี้กระทรวงคมนาคม “หัวกระไดแทบไม่แห้ง” มีบรรดาคีย์แมนกลุ่มก่อสร้าง ไปมาหาสู่อยู่ไม่ขาดสาย..ยิ่งใกล้ทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มจะแล้วเสร็จ..คงจะมีคนมากหน้าหลายตา “เดินเข้า-ออก” กระทรวงนี้มากเป็นพิเศษเลยทีเดียว
ที่ผ่านมา..รฟม.ในฐานะเจ้าภาพใหญ่ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) เพื่อประกอบการจัดทำเงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 28 ม.ค.63 ที่ผ่านมา
โดยอนุมัติการดำเนินโครงการดังกล่าว ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนค่างานโยธาและลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและให้บริการการเดินรถไฟฟ้าทั้งระบบ
เสียงเล็ดลอดออกมาว่า..เงื่อนไขทีโออาร์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งนี้ จะแตกต่างจากเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่ปกติแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาเกณฑ์คุณสมบัติทั่วไป คุณสมบัติด้านเทคนิค ด้านการเงินและข้อเสนอเพิ่มเติมอื่น ๆ
โดยผู้ยื่นประมูลต้องผ่านคุณสมบัติทั่วไป และคุณสมบัติด้านเทคนิค จึงจะได้รับการพิจารณาให้เปิดซองราคาและยึดถือเอาผู้ที่เสนอผลประโยชน์หรือผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ชี้ขาด
ที่เห็นได้ชัด อาทิ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ศูนย์ราชการ-มีนบุรี) โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เหล่านี้ล้วนอิงหลักเกณฑ์การคัดเลือกรูปแบบดังกล่าว
แต่ว่า..เงื่อนไขประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งนี้ จะมีการปรับเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) และข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านการเงิน) รวมห่อกันไปเลย ไม่ต้องมาทีละสเต็ป “เปิดซองคุณสมบัติ-ซองเทคนิค-ซองราคา” เหมือนดังเคยปฏิบัติกันมา
จนน่าตั้งเป็นข้อสังเกตว่า การให้พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและราคารวมห่อกันดังกล่าว เข้าข่าย “ล็อกสเปก” ไม่ยึดโยงหรืออิงผลตอบแทนหรือผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐเป็นเกณฑ์หลักหรือไม่..!
ว่ากันว่าเบื้องหลังความพยายาม “รื้อเกณฑ์ทีโออาร์” ครั้งนี้ ถูกผลักดันโดยผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่หวังใช้ประ โยชน์จากเงื่อนไขใหม่นี้ ช่วงชิง “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” ดังกล่าวนั่นเอง
ก็ไม่รู้ซิว่าจะเป็นค่ายไหนนะ..ที่กำลังร้อนงานอยู่ในช่วงนี้..!??
…อิ อิ อิ..