คัดหุ้นพื้นฐานแกร่ง-ปันผลสูง ชู INTUCH-SPVI ท็อปพิค!

คัดหุ้นพื้นฐานแกร่ง-ปันผลสูง ชู INTUCH-SPVI ท็อปพิค!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หลังจากที่หุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีประเด็นข่าวที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และงดการซื้อหุ้นคืน

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลในแง่ของสภาพคล่องของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างมาก อีกทั้งมีการขายเพื่อเปลี่ยนกลุ่มการลงทุนไปยังกลุ่มที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงกว่า

โดย บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (22 มิ.ย.2563)  โดยเปิดเผยถึงกรณีที่ ธปท. ขอให้ธนาคารพาณิชย์งดการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และงดการซื้อคืนหุ้น ประเมินว่าเป็นปัจจัยที่จะสร้างแรงกดดันต่อหุ้นในกลุ่มธนาคาร (น้ำหนัก 9% ของ Market Cap.) รวมถึง SET Index ทั้งนี้ตีความว่าท่าที่ดังกล่าวของ ธปท. สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะมีผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงินในอนาคต

ขณะที่มุมมองต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทำให้จุดเด่นในเรื่อง Valuation และ Dividen Yield ลดลง ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยมีทิศทางไหลไปยังหุ้น High Dividend Yield แทน ซึ่งน่าจะทำให้หุ้นในพอร์ตการลงทุนจำลองของฝ่ายวิจัยซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นหุ้นปันผลฯ ได้รับประโยชน์

สำหรับประเด็นในประเทศที่ต้องติดตามจากนี้ไปเป็นเรื่องของมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยน่าจะเห็นเรื่องการประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากขึ้น ส่วนการประชุม กนง. ในวันที่ 24 มิ.ย.63 เชื่อว่าในรอบนี้น่าจะเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิม แต่ในการประชุมช่วงเวลาที่เหลือของปีมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้ง แนะนำปรับพอร์ตโดย ขายหุ้น AMATA (5% ของพอร์ต) ออก แล้วเข้าพักเงินใน DIF ส่วนหุ้น Top Pick เลือก INTUCH และ SPVI

ผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์

จากกรณีที่ ธปท. ให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุน สำหรับ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และศักยภาพของลูกหนี้ ภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ทั้งนี้ ในระหว่างจัดทำแผนบริหารจัดการกองทุน ให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายปันผลระหว่างกาล (ปี 2562 เกือบทุกธนาคารพาณิชย์ มีการจ่ายเงินปันระหว่างกาล ยกเว้น KTB และ TISCO จ่ายปีละครั้ง) และห้ามซื้อหุ้นคืน (ปัจจุบันไม่มีธนาคารใดมีโครงการซื้อหุ้นคืน) เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของเงินกองทุนทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ที่ถือเป็น Source of fund หลักของ Real Sector และภาคครัวเรือน รวมถึงเป็นที่รวมเงินฝากของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย

สำหรับภาพดังกล่าวสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่คาดหวังเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงอาจทำให้นักลงทุนบางกลุ่มตีความถึงแนวโน้ม NPL ในอนาคตที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบุคคล คิดเป็นสัดส่วนราว 39% ของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มฯ (หลักๆ เป็นสินเชื่อเคหะ) ที่ฝ่ายวิจัยทำการศึกษา มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากภาระหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นงวด ไตรมาส 4/2562 ที่อยู่ในระดับสูงราว 80% ของ GDP สวนทางกับรายได้ที่เผชิญกับสภาวะ Income shock จากทั้งอัตราว่างงาน และรายได้ครัวเรือนลดลง จากการถูกปรับลดรายได้ อันเป็นผลมาจากนโยบายบริหารค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัท

ขณะที่กลุ่มลูกค้า SME (สัดส่วน 18%) แม้มองฟื้นตัวเร็วกว่ารายย่อย แต่สถานการณ์ตั้งแต่ก่อน COVID-19 ไม่ได้แข็งแกร่งเท่าใด จากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ (สัดส่วนราว 36% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคาร) น่าจะแข็งแกร่งสุดในสภาวะปัจจุบัน พิจารณาจากมาตรการชะลอชำระหนี้ (Loan payment holiday) ที่มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการราว 6.6 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อย, SME และ สินเชื่อรายใหญ่ ราว 57%, 32% และ 11% ตามลำดับ โดยกลุ่มลูกหนี้รายย่อย ที่มีปัญหาฟื้นตัวช้า ตามข้างต้น  นำไปสู่มาตรการชะลอชำระหนี้เฟส 2 ที่เปิดให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 63 แม้ช่วยชะลอการไหลตกชั้นชั่วคราว แต่หากฟื้นตัวช้า ย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบธนาคารพาณิชย์

คงน้ำหนัก น้อยกว่าตลาด จากทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงความน่าสนใจด้าน Div Yield ในปี 2563 เริ่มลดลง แนะนำ ขายย้ายกลุ่มเล่นชั่วคราว

ผลกระทบต่อกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์

จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2 โดยการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล (เดิม 28% ลงเหลือ 25%) สินเชื่อจำนำทะเบียน (เดิม 28% เหลือ 24%) และสินเชื่อบัตรเครดิต (เดิม 18% เหลือ 16%) ชั่วคราว มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63-31 ธ.ค. 64 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 อาทิ เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นเวลา 3 เดือน หรือการลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำ เป็นต้น เริ่มให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ก.ค.- 31 ธ.ค. 63

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่า AEONTS จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวมากสุด เพราะปัจจุบัน AEONTS คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต (39% ของสินเชื่อรวม) ที่ราว 20% (รวมค่าธรรมเนียมเบิกเงินสด) และคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด (50% ของสินเชื่อรวม) ที่ราว 26% ทำให้ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563/64-65 ของ AEONTS ลงราว 15% และ 21% จากปัจจุบัน และยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุน AEONTS ไปก่อน

ขณะที่ SAWAD และ MTC จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะปัจจุบันคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าที่ราว 22% ต่ำกว่าคาดการณ์เพดานสินเชื่อใหม่ที่ 24% อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามคุณภาพลูกหนี้ของกลุ่มเช่าซื้อด้วย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว จากผลกระทบ COVID-19 จะกดดันความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าลง

โดยราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว อีกทั้ง ยังได้รับ sentiment เชิงลบจากมาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงแนะนำให้หลักเลี่ยงการลงทุนไปก่อน

หลายบททดสอบ ฉุดรั้งดัชนีแพงให้มีโอกาสปรับฐาน ชอบ หุ้นปันผล INTUCH, หุ้นเล็ก SPVI

ทั้งนี้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำทีมกดดันตลาด ความกังวลต่อการงดจ่ายปันผลระหว่างการของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ออกมาพร้อมๆกัน แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ และผลกระทบจาก COVID-19 ที่อาจรุนแรงกว่าที่ตลาดคาด กดดันอุตสาหกรรมธุรกิจการเงินที่มีสัดส่วน Market Cap กว่า 12.42% ของตลาด (กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 9.05%, กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 3.37%)

โดยกำไรบริษัทไตรมาส 2/2563 ยังมีโอกาสเป็นจุดต่ำสุดของปี หลังเผชิญกับผลกระทบ COVID-19 เกือบเต็มไตรมาส ถือเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการ

ทั้งนี้ Fund Flow ที่ยังชะลอไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยต่างชาติยังขายสุทธิหุ้นไทย 2.0 แสนล้านบาท (นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน) และเป็นการขายสุทธิทุกเดือน ขณะที่แรงซื้อของสถาบันฯเริ่มชะลอลงอย่างเห็นได้ขัด

โดย ตลาดเข้าสู่ภาวะเก็งกำไร ปัจจุบันน้ำหนักการลงทุนถูกเบี่ยงไปที่หุ้น Market Cap. กลาง-เล็ก มากขึ้น สะท้อนได้จาก ดัชนี SSET ให้ผลตอบแทนสูงถึง 6.5%(mtd) ขณะที่ตลาดหุ้นขนาดใหญ่ อย่าง SET50 ให้ผลตอบแทนเพียง 1.3%(mtd) เท่านั้น

ดังนั้นกลยุทธ์การหลีกเลี่ยงหุ้นธนาคารพาณิชย์ชั่วคราว แล้วให้น้ำหนักการลงทุนไปที่หุ้นปันผลสูง ถือเป็นตัวแทน ธ.พ. ได้ดี ชอบ TTW, INTUCH, TVO และ DIF รวมถึงหุ้นจิ๋วแต่แจ๋ว DCC, SPVI

Top pick วันนี้เลือก INTUCH, SPVI

Back to top button