‘แก้ไข’ ดีกว่า ‘ไม่ทำอะไรเลย’

การเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำในอเมริกาในระหว่างการจับกุมของตำรวจเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมในเมืองมินนีอาโพลิส ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวไปทั่วโลก แต่ยังทำให้หลายบริษัทต้องปรับกลยุทธ์กันยกใหญ่เพื่อแก้ไขความผิดพลาดในอดีต


พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง (แทน)

การเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำในอเมริกาในระหว่างการจับกุมของตำรวจเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมในเมืองมินนีอาโพลิส ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวไปทั่วโลก แต่ยังทำให้หลายบริษัทต้องปรับกลยุทธ์กันยกใหญ่เพื่อแก้ไขความผิดพลาดในอดีต

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แบรนด์ดัง ๆ ที่มีชื่อเสียง ได้พากันออกมาประกาศว่าจะเปลี่ยนชื่อและโลโก้สินค้าท่ามกลางการถกเถียงเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ

บริษัท คอลเกต-ปาล์ม โอลีฟ กล่าวว่าจะพิจารณารีแบรนด์ ยาสีฟันยี่ห้อ “ดาร์ลี่” ยาสีฟันยี่ห้อนี้ถ้าเป็นคนยุคเก่า คงจะจำกันได้ว่าเดิมทีมีชื่อว่า “ดาร์กี้” ( Darkie) ยาสีฟันยี่ห้อนี้เป็นแบรนด์ของบริษัทยาสีฟันในฮ่องกงที่ชื่อว่า Hawley & Hazel โลโก้ของดาร์กี้เป็นรูปผู้ชายผิวดำใส่หมวกทรงสูงที่ยิ้มเห็นฟันขาว แต่คำว่า ดาร์กี้ ก็เป็นคำค่อนข้างหยาบที่ใช้เรียกคนผิวดำ และในภาษาจีนยังมีความหมายว่า “ยาสีฟันของคนดำ” อีกด้วย

ในปี 2532 บริษัท คอลเกต–ปาล์มโอลีฟ ได้เข้าซื้อยาสีฟันดาร์กี้ เป็นเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถูกผู้ถือหุ้นกดดันให้เปลี่ยนชื่อและได้ใช้ชื่อใหม่ว่า “ดาร์ลี่” มาจนถึงปัจจุบัน

บริษัทเป็ปซี่โค ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ประกาศเปลี่ยนโลโก้แบรนด์ Aunt Jemima ที่มีมานานกว่า 130 ปีเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหยียดผิวเช่นเดียวกัน

แบรนด์อาหารอื่น ๆ ที่มีคาแรกเตอร์เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ก็กำลังทบทวนเปลี่ยนโลโก้กันยกใหญ่ เช่น บริษัท มาร์ อิงซ์ จะพิจารณาเปลี่ยนยี่ห้อ “Uncle Ben’s rice” ที่ได้ทำตลาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483

บริษัทในอังกฤษหลายแห่งก็ถูกกดดันอย่างหนักให้ยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับการค้าทาส  เช่น บริษัทเบียร์ Greene King ลอยด์ ออฟ ลอนดอน และธนาคารอีกกลายแห่ง เช่น อาร์บีเอส และลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป

ธนาคารกลางอังกฤษก็จะปลดรูปอดีตผู้ว่าการที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสออก ในขณะที่คริสตจักรอังกฤษ ออกมาขอโทษที่บาทหลวงทำกำไรจากการค้าทาส

กระแสการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติยังได้กดดันให้บริษัทต้องออกมาประกาศรับคนผิวสีทำงานในบริษัทให้มากขึ้นเนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าโอกาสในการเข้าทำงานหรือได้รับการโปรโมทขึ้นนั่งในตำแหน่งใหญ่ ๆ และเงินเดือนของคนผิวสีนั้นน้อยกว่าคนผิวขาว

บริษัท อาดิดาส ประกาศเพิ่มการจ้างงานคนผิวสีรวมถึงผู้ที่มีเชื้อสายลาตินอเมริกาในอเมริกาเหนืออีก 30% และยังบริจาคเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยเหลือกลุ่มคนผิวสีในสหรัฐฯ ในอีก 4 ปี และมอบทุนการศึกษาอีก 50 ทุนให้กับพนักงานผิวสี

ไนกี้ คู่แข่งอาดิดาสก็ไม่น้อยหน้า ได้ทำแคมเปญ “Don’t Do It” เพื่อส่งสารใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเชื้อชาติ แถมจะบริจาคเงิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 4 ปีจากนี้ไป เพื่อสนับสนุนองค์กรของคนผิวสี

กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีก็ตื่นตัวต่อกระแสนี้มากเช่นกัน แอปเปิลเตรียมทุ่มเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยเหลือโครงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและส่งเสริมความเท่าเทียม โดยทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล กล่าวว่า เขาตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้เพราะเติบโตมาในรัฐอลาบามาที่มีปัญหาเรื่องเหยียดผิว

บางบริษัท เช่น อเมซอน ไอบีเอ็ม และไมโครซอฟต์ เคลื่อนไหวไปไกลถึงขนาดไม่ขายอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีจดจำใบหน้าให้ตำรวจเนื่องจากเห็นว่ามีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้อย่างเลือกปฏิบัติกับคนผิวสีและยังยอมรับว่าเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามักมีข้อบกพร่อง โดยวิเคราะห์ผิดว่ารูปหน้าคนผิวสีที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นกลุ่มมิจฉาชีพ

การเคลื่อนไหวเหล่านี้แม้ในมุมหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการ “โหนกระแส” เพื่อทำการตลาดหรือสร้างภาพพจน์ แต่ในอีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้สังคมได้ตระหนักว่า การแก้ไขการกระทำที่ผิดพลาดในอดีตให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และจะต้องช่วยกันทำ เพื่อที่จะได้มีสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ว่าผิดพลาดไปแล้ว ก็ปล่อยเลยตามเลย โดยไม่คิดจะทำอะไรเลย

Back to top button