“ส.ธนาคารไทย” ยันสภาพคล่องยังดี ทุกแบงก์เร่งช่วย “เอสเอ็มอี-รายย่อย” เข้าถึงแหล่งเงิน
“สมาคมธนาคารไทย” ยันสภาพคล่องยังดี ทุกแบงก์เร่งช่วย “เอสเอ็มอี-รายย่อย” เข้าถึงแหล่งเงิน ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ บรรเทาผลกระทบ "โควิด-19"
นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยในรายการ Economic Update หัวข้อ “การปรับตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจและสังคมไทย” ผ่านเพจห่วงใย Thai Business ว่า ภาคธนาคารในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการบริการต่อภาคประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองกับความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น, การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริม, การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของภาคธนาคาร, การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย, การดูแลในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งการทำงานของภาคธนาคารที่ผ่านมา จะอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของสามาคมธนาคารไทยที่ได้ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้รับความร่วมมือที่ดีจากธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารที่เป็นสมาชิก โดยประเด็นหลักที่ช่วยกันผลักดัน คือ ดิจิทัลเพย์เมนต์, ดิจิทัลแบงก์กิ้ง, การให้ความรู้เรื่องทางด้านการเงิน (financial literacy), การช่วยเหลือให้ SME ต่างๆเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น และส่งเสริมให้ประชาชนเปิดบัญชีกับทางธนาคารฯ รวมถึงการเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันจากการเชื่อมโยง, การทำในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ และการยกระดับของสมาคมฯ, การให้บริการประชาชนให้มีมาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับภาคส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสนับสนุนการทำงานของภาครัฐบาล ทั้งในสถานการณ์ปกติ และในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างโควิด-19 ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมา สมาคมธนาคารไทยได้ทำร่วมกับทางรัฐบาล และระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน โดยดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกลุ่มไม่ว่าจะเป็นลูกค้า SME, ลูกค้ารายย่อย และบริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้น
ขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ก็จะมีสินเชื่อบ้าน, สินชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนมาตรการช่วยเหลือ SME หลักๆ ที่ออกมาก็จะมีมาตรการ Soft Loan ผ่านธนาคารออมสิน วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และอยู่ระหว่างรอโครงการมาใหม่ หรือ PGS9 นอกจากนั้นในส่วนของวงเงินสินเชื่อ soft loan จำนวน 5 แสนล้านบาท ผ่านธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีการใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดใช้ไปแล้ว 7.3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ก็มีการดูแลลูกค้าของตัวเองด้วย
“ในส่วนของวงเงินต่างๆ ก็มีหลายอย่างที่เราได้ทำ นอกจากสินเชื่อใหม่ผ่าน Soft Loan 5 แสนล้านบาทของแบงก์ชาติ หรือสินเชื่อของบสย. เราก็มีการดูแลลูกค้าเก่าของทางธนาคาร ทั้งลูกค้าปกติ และลูกค้าที่เริ่มเป็น NPL เราก็มีมาตรการออกมาในหลายๆ ด้าน” นายกอบศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า จากการออกมาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าลูกค้าทุกกลุ่มน่าจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องของการปรับลดดอกเบี้ย MRR, MOR , MLR รวมถึงการที่ธปท. ขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยขั้นสูง สำหรับลูกค้ารายย่อย ทางธนาคารก็ได้ปรับลดลงมาแล้ว
สำหรับเรื่องของสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันมองว่ายังไม่มีปัญหา ส่วนการที่ ธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายปันผลเฉพาะกาล และงดการซื้อหุ้นคืน ก็ถือเป็นมาตรการที่ธนาคารกลางในหลายประเทศออกมาเพื่อดูแลระบบธนาคารต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารพาณิชย์มีการปรับตัวในการบริหารจัดการ การบริหารความเสี่ยงค่อนข้างมาก ฉะนั้น ด้วยพื้นฐานของธนาคารพาณิชย์ถือว่ามีความแข็งแกร่งพอสมควร เห็นได้จากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุนของธนาคารสูงกว่าธปท.กำหนดมาโดยตลอด
ด้านหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน การออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มองว่าอาจจะไม่ได้ส่งผลมากนัก ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องกลับมาดูในเรื่องของการให้ความรู้การบริหารจัดการทางการเงินมากขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน ทั้งตลาดทุน สมาคมธนาคารไทย ฯลฯ แต่ก็ต้องกลับมาดูว่าจะทำร่วมกันอย่างไรให้ดีขึ้น เพื่อลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ภาคธนาคารจะมีการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้ภาคธุรกิจ ลูกค้าของธนาคารผ่านวิกฤตในช่วงนี้ไปให้ได้ ขณะที่ภายหลังโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว อย่างแนะนำทุกธุรกิจจะต้องศึกษาว่าเทรนของโลกจะไปในทิศทางใด หรือดูวิธีการบริหารจัดการ วิธีการขาย เพื่อให้รองรับกับโลกในอนาคต ส่วนภาคประชาชนเองให้ดูในเรื่องของธุรกิจต่างๆ ว่าธุรกิจไหนจะไปได้ดี เพื่อแสวงหาความรู้ ความสามารถรองรับกับงานในอนาคต ซึ่งมองว่าการหาความรู้มาเพิ่มเติมถือว่ามีความจำเป็น รวมถึงภาครัฐเองก็มีมาตรการออกมาค่อนข้างมาก ทางสมาคมฯ ก็จะสนับสนุนมาตรการฯ ให้ไปถึงประชาชนในหมู่มาก