“ธปท.” ชี้ศก.ไทย ไตรมาส 2 เข้าสู่จุดต่ำสุด คาดหดตัวมากกว่า 10% แต่ไม่ถึง -20%

“ธปท.” ชี้เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 เข้าสู่จุดต่ำสุด คาดหดตัวมากกว่า 10% แต่ไม่ถึง -20% ก่อนเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3


นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/63 จะเข้าสู่จุดต่ำสุดในปีนี้ โดยคาดว่าจะหดตัว 2 หลัก หรือมากกว่า -10% แต่ไม่เกิน -20% พร้อมคงคาดการณ์ทั้งปีหดตัว -8.1% ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินไว้

“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 มีโอกาสหดตัว 2 หลัก หรือมากกว่า -10% แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดขึ้นต้นด้วยเลข 2 และจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3/63 ต่อเนื่องในทุกไตรมาส แต่เป็นการหดตัวลดลง”นายดอน กล่าว

นายดอน กล่าวว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือน มิ.ย.63 เริ่มเห็นสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าในเดือน พ.ค.63 น่าจะอยู่ในจุดต่ำสุดแล้ว โดยคาดว่าไตรมาส 3/63 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแรงพอสมควร ขณะที่มาตรการคลายล็อกในประเทศไทยทำให้คนเริ่มใช้จ่ายและการท่องเที่ยวเรื่มผ่อนคลายมากขึ้น

สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ในด้านต่างประเทศ ทุกประเทศมองตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 หลังจากนั้นจะเริ่มฟื้นตัว ถ้าไม่มีเหตุการร้ายแรงเกิดขึ้น เช่น การระบาดรอบ 2 ทำให้ต้องปิดประเทศหลายที่ หรือกรณีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และเสถียรภาพระบบการเงินของโลกที่ในหลายประเทศพบการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มตราสารหนี้ภาคเอกชน

ส่วนปัจจัยในประเทศ ยังต้องติดตามการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท จากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะนำไปใช้อย่างไร แต่ก็เป็นทิศทางที่ ธปท.สนับสนุนให้มีการใช้เงินกู้ไปในการจ้างงานสร้างงาน ซึ่งเม็ดเงินที่มีนั้นมากพอแล้ว แต่ขอให้ใช้ให้ตรงจุด

ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทนั้น ธปท.ยอมรับว่าการแข็งค่าเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการติดตามดูแลใกล้ชิด ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้คาดว่าจะเป็นบวกเล็กน้อย

นายดอน ยืนยันว่า ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีทิศทางปรับขึ้นจะไม่กระทบกับเสถียรภาพธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากระบบสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็งลำดับต้นๆ ของโลก สามารถรองรับการหดตัวทางเศรษฐกิจได้ รวมทั้ง ธปท.ก็มีแนวนโยบายดูแลปรับโครงสร้างลูกหนี้อย่างใกล้ชิด

Back to top button