STGT เปิดเทรดวันแรกเหนือจอง 63% แตะ 55.25 บ. โบรกฯ ฟันกำไรปีนี้โตแรง 5 เท่า รับยอดขายพุ่ง
STGT เปิดเทรดวันแรกเหนือจอง 63% แตะ 55.25 บ. จากราคาไอพีโอ 34 บาท โบรกฯ ฟันกำไรปีนี้โตแรง 5 เท่า รับยอดขายพุ่ง โดย ณ เวลา 10.00 น. อยู่ที่ 55.75 บาท บวก 21.75 บาท หรือ 63.97% สูงสุดที่ระดับ 56.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 55.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.51 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เปิดเทรดวันแรกที่ระดับ 55.25 บาท จากราคาไอพีโอ 34 บาท โดย ณ เวลา 10.00 น. อยู่ที่ 55.75 บาท บวก 21.75 บาท หรือ 63.97% สูงสุดที่ระดับ 56.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 55.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.51 พันล้านบาท โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
โดย นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” STGT ราคาเป้าหมาย 56 บาท/หุ้น อิง P/E เฉลี่ยกลุ่มก่อน COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรงที่ 21.2 เท่า โดยมองว่าอนาคตของ STGT ไม่ได้มีเพียงประเด็นของการได้ประโยชน์จากสถานการณ์ COVID-19 ที่จะดันให้กำไรปี 2563 ขยายตัวแรง 5 เท่าตัว แต่มองไปไกลกว่าว่า ผู้ผลิตถุงมือยังอันดับ 3 ของโลกรายนี้ กำลังจะพร้อมแล้วที่จะขึ้นไปท้าท้ายผู้เล่นระดับโลกด้านบน ด้วยความได้เปรียบในเชิงตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทย และการสนับสนุนอย่างดีจาก STA ผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก
ทั้งนี้นอกจาก STGT จะได้รับการหนุนหลังจาก STA ซึ่งเป็นผู้ส่งออกยางพาราส่วนแบ่งอันดับ 1 ของโลกแล้ว การตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำยางธรรมชาติเข้มข้น (Concentrated latex) รายใหญ่ของโลก ส่วนแบ่ง 73% ทำให้ STGT ปิดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบได้เบ็ดเสร็จ เหนือกว่าคู่แข่งรายใหญ่อีก 4 แห่งที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำยางข้นจากไทย
ขณะที่เงินจากการ IPO ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ก็เพียงพอขยายกำลังการผลิตอีก 1 เท่าตัวใน 5-6 ปีข้างหน้าแล้ว ดังนั้นแผนการเติบโตระยะยาวในอุตสาหกรรมที่ผู้เล่นใหม่เกิดยาก (High barrier to entry) ด้วยแผนการเจาะตลาดในประเทศกำลังพัฒนา ที่ยังมีจำนวนการใช้ถุงมือยางต่ำเพียง 4-10 ชิ้น/คน/ ปี (ตย. จีน) เทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วที่ 100-150 ชิ้น/คน/ ปี เราจึงมองว่ามีความเป็นไปได้
ทั้งนี้คาด STGT จะมีกำไรสุทธิปี 2563 เป็นสถิติ 3.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปีก่อน ผลักดันจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้าต้นปี เพิ่มขึ้น 20% และ ราคาขายเฉลี่ยคาดเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากภาวะขาดแคลนถุงมือยางทั่วโลกปีนี้ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19
โดยอัตรากำไรขั้นต้น คาดพุ่งจาก 12.0% เป็น 25.7% โดยไตรมาส 1/63 ช่วงต้นของการระบาด ก็เริ่มไต่ขึ้นแล้วที่ 18.8% ซึ่งเมื่อใช้ Forward P/E เฉลี่ย 21.2 เท่า ของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้ง 4 ของมาเลเซียในช่วงก่อน COVID-19 ระบาดรุนแรงเป็นจุดอ้างอิงเพื่อความอนุรักษ์นิยม บน EPS 2.68 บาท/ หุ้น (หุ้นถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 1,212 ล้านหุ้น)