สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 ก.ค.2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 ก.ค.2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากดัชนีภาคบริการของสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยบวกจากดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนที่ทะยานขึ้นกว่า 5% เมื่อวานนี้ ท่ามกลางมุมมองบวกที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,287.03 จุด พุ่งขึ้น 459.67 จุด หรือ +1.78% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,179.72 จุด เพิ่มขึ้น 49.71 จุด หรือ +1.59% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,433.65 จุด เพิ่มขึ้น 226.02 จุด หรือ +2.21%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของประเทศต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการทะยานขึ้นของตลาดหุ้นจีนได้ช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อหุ้นด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 1.58% ปิดที่ 371.21 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,081.51 จุด เพิ่มขึ้น 74.38 จุด หรือ +1.49%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,733.45 จุด เพิ่มขึ้น 205.27 จุด หรือ +1.64% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,285.94 จุด เพิ่มขึ้น 128.64 จุด หรือ +2.09%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,285.94 จุด เพิ่มขึ้น 128.64 จุด หรือ +2.09%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) เนื่องจากความกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบ WTI ขยับลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยตลาดได้แรงหนุนจากมุมมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน และข่าวซาอุดีอาระเบียปรับขึ้นราคาขายน้ำมันดิบ
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 2 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 40.63 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 4 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 43.10 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและทั่วโลก
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 3.5 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,793.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 1.42% ปิดที่ 18.582 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 6.1 ดอลลาร์ หรือ 0.73% ปิดที่ 837.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 24.70 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1952.30 ดอลลาร์/ออนซ์
สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลารสหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) ขานรับรายงานยอดค้าปลีกของยูโรโซนที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนพ.ค. หลังจากรัฐบาลในหลายประเทศของยุโรปเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1314 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1244 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2498 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2476 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6975 ดอลลาร์ จากระดับ 0.6942 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.28 เยน จากระดับ 107.47 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9413 ฟรังก์ จากระดับ 0.9448 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3541 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3553 ดอลลาร์แคนาดา
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.46% สู่ระดับ 96.7291 เมื่อคืนนี้