สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 ก.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 ก.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 400 จุดเมื่อคืนนี้ (7 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากตลาดพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนไม่มั่นใจในมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ รวมทั้งการแสดงความเห็นในด้านลบจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,890.18 จุด ลดลง 396.85 จุด หรือ -1.51% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,145.32 จุด ลดลง 34.40 จุด หรือ -1.08% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,343.89 จุด ลดลง 89.76 จุด หรือ -0.86%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (7 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังกับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของเยอรมนี และวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.61% ปิดที่ 368.96 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,043.73 จุด ลดลง 37.78 จุด หรือ -0.74%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,616.80 จุด ลดลง 116.65 จุด หรือ -0.92% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,189.90 จุด ลดลง 96.04 จุด หรือ -1.53%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (7 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากตลาดพุ่งขึ้นเมื่อวันจันทร์ ขณะที่นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,189.90 จุด ลดลง 96.04 จุด หรือ -1.53%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (7 ก.ค.) จากความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบขยับลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากตลาดได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 40.62 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 2 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 43.08 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปีเมื่อคืนนี้ (7 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในสหรัฐและทั่วโลก
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 16.40 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 1,809.90 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 11.7 เซนต์ หรือ 0.63% ปิดที่ 18.699 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 25.5 ดอลลาร์ หรือ 3.04% ปิดที่ 863.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 1,951.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 ก.ค.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.15% สู่ระดับ 96.80 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.51 เยน จากระดับ 107.28 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9420 ฟรังก์ จากระดับ 0.9413 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3593 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3541 ดอลลาร์สหรัฐ
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทีบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1285 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1314 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2556 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2498 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6958 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6975 ดอลลาร์สหรัฐ