สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 ก.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 ก.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (8 ก.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดทำนิวไฮ โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รวมทั้งความหวังที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นก็ตาม ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนซึ่งจะทยอยเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในสัปดาห์หน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,067.28 จุด เพิ่มขึ้น 177.10 จุด หรือ +0.68% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,169.94 จุด เพิ่มขึ้น 24.62 จุด หรือ +0.78% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,492.50 จุด เพิ่มขึ้น 148.61 จุด หรือ +1.44%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (8 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นในประเทศต่างๆ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.67% ปิดที่ 366.48 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,981.13 จุด ลดลง 62.59 จุด หรือ -1.24%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,494.81 จุด ลดลง 121.99 จุด หรือ -0.97% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,156.16 จุด ลดลง 33.74 จุด หรือ -0.55%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (8 ก.ค.) โดยลดลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เนื่องจากนักลงทุนหมดหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,156.16 จุด ลดลง 33.74 จุด หรือ -0.55%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อคืนนี้ (8 ก.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สหรัฐนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สต็อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐปรับตัวลดลง โดยข้อมูลดังกล่าวส่งสัญญาณว่าความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐกำลังฟื้นตัว

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 28 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 40.90 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 21 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 43.29 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทะลุแนว 1,820 ดอลลาร์/ออนซ์เมื่อคืนนี้ (8 ก.ค.) และยังคงทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปี โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังช่วยให้ราคาทองคำมีความน่าดึงดูดมากขึ้นด้วย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 10.7 ดอลลาร์ หรือ 0.59% ปิดที่ระดับ 1,820.6 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 46.2 เซนต์ หรือ 2.47% ปิดที่ 19.161 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 20.8 ดอลลาร์ หรือ 2.41% ปิดที่ 884 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 13.30 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 1938.30 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่มีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดีดตัวขึ้น จากคำสั่งซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.45% สู่ระดับ 96.4337 เมื่อคืนนี้

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1335 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1285 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2621 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2556 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6980 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6958 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.20 เยน จากระดับ 107.51 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9379 ฟรังก์ จากระดับ 0.9420 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3500 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3593 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button