ThaiBMA คาดเอกชนออกหุ้นกู้ครึ่งปีหลังคึกคัก หนุนทั้งปีทะลุ 8 แสนลบ.

ThaiBMA คาดเอกชนออกหุ้นกู้ครึ่งปีหลัง 4.6 แสนลบ. หนุนทั้งปีทะลุ 8 แสนลบ.


นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดว่าบริษัทเอกชนไทยจะมีการออกหุ้นกู้ในปี 63 ไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท แม้ว่าในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.จะชะลอตัวไปบ้าง แต่ในครึ่งหลังปี 63 คาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้กว่า 4.6 แสนล้านบาท โดยจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและคาดว่าจะออกหุ้นกู้ใหม่ทดแทนหุ้นกุ้เดิม (Rollover) มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้ใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทพลังงานทางเลือกอีกจำนวนกว่า 1.6 แสนล้านบาท

ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกปีนี้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 3.23 แสนล้านบาท ลดลง 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 5.71 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงทุกกลุ่ม Rating โดยในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. มีการออกหุ้นกู้ลดลง เนื่องจากการระบาดโควิด-19 และมีการ lock down ก่อนจะเริ่มกลับมาออกกันอีกครั้งในเดือน มิ.ย.ที่มีมูลค่า 72,935 ล้านบาท เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนที่มีมูลค่า 95,921 ล้านบาท

ล่าสุด ณ สิ้นเดือน มิ.ย.63 มีมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดในตลาดเท่ากับ 3.88 ล้านล้านบาท ลดลง 0.68% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระยะยาวที่มีการออกเพิ่มขึ้น และหุ้นกู้ระยะสั้นลดลง

ด้าน นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)  กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกพบว่ามีหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ขอขยายเวลาวันครบกำหนดอายุ จำนวน 10 บริษัท มูลค่ารวม 7,247.20 ล้านบาท โดยเป็นทั้งหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตที่ระดับ BB+ และ Not-rated โดยระยะเวลาที่ขอขยาย 6 เดือน-2 ปี

ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย.หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิต BBB- ถึง BBB+ มีการขายลดลงมาที่ 41.4% และเริ่มกระเตื้องขึ้นมาในเดือน พ.ค. และกลับมาปกติในเดือน มิ.ย.เช่นเดียวกับหุ้นกู้ High Yield ที่เดือนเม.ย.ขายลดลงมาที่ 34.6% และเพิ่มมาเป็น 87.6% จนกลับมาปกติในเดือนมิ.ย. รวมทั้งคาดว่าไม่น่าจะมีประเด็นหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ (Default) จนถึงสิ้นปีนี้ และไม่น่าจะมีมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield Curve Control)

สำหรับแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูงเพราะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในต่างประเทศ แต่อัตราการเสียชีวิตลดลง ทั้งนี้ คาดว่าจะไม่เห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในปีนี้ หลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติการณ์มาที่ 0.25% และมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายน่าจะมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอาจทำให้ตลาดผันผวนได้

นอกจากนี้เริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (Fund Flow) เข้าตลาดตราสารหนี้ในเดือน มิ.ย. และน่าจะมีแนวโน้มไหลเข้ามาอย่างระมัดระวัง หรือเข้ามาไม่มาก แม้ว่า Yield Curve ของไทยต่ำกว่าสหรัฐ เพราะสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ของไทยมีความเสี่ยงน้อยลง

“มีโอกาส Flow ต่างชาติเข้ามาในไทย แต่ไม่มากขึ้นอยู่กับปัจจัยภายใน โดยเข้ามาแล้ว 2-3.5 หมื่นล้านบาทในเดือนมิ.ย. และ 9 วันแรกของเดือน ก.ค.เข้ามา 11,700 ล้านบาท” นายธาดา กล่าว

 

 

Back to top button