สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ก.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 10 ก.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากข่าวความคืบหน้าของบริษัท Gilead Sciences Inc ในการผลิตยารักษาโรคโควิด-19 ซึ่งได้ช่วยคลายความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,075.3 จุด พุ่งขึ้น 369.21 จุด หรือ +1.44%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,185.04 จุด เพิ่มขึ้น 32.99 จุด หรือ +1.05% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,617.44 จุด เพิ่มขึ้น 69.69 จุด หรือ +0.66%
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์บวก 1%, ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 1.8% และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้น 4%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในอิตาลีและฝรั่งเศส ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้จะยังคงกังวลเกี่ยวกับยอดติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นทั่วโลกก็ตาม
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.88% ปิดที่ 366.83 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,970.48 จุด เพิ่มขึ้น 49.48 จุด หรือ +1.01%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,633.71 จุด เพิ่มขึ้น 144.25 จุด หรือ +1.15% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,095.41 จุด เพิ่มขึ้น 45.79 จุด หรือ +0.76%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ค.) โดยฟื้นตัวขึ้นจากการร่วงลง 3 วันติดต่อกันก่อนหน้านี้ แต่ตลาดก็ยังคงปิดลบในสัปดาห์นี้ ขณะที่นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับยอดติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,095.41 จุด เพิ่มขึ้น 45.79 จุด หรือ +0.76% แต่ปรับตัวลงราว 1% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (10 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบในปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 93 เซนต์ หรือ 2.4% ปิดที่ 40.55 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ปรับตัวลง 0.3% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 89 เซนต์ หรือ 2.1% ปิดที่ 43.24 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 1% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (10 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายทองซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากมีความหวังว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้น
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.9 ดอลลาร์ หรือ 0.11% ปิดที่ 1,801.9 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาทองคำเพิ่มขึ้น 0.7%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 9.1 เซนต์ หรือ 0.48% ปิดที่ 19.053 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1 ดอลลาร์ หรือ 0.12% ปิดที่ 845.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 31.20 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 1,994.40 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์ เนื่องจากกังวลกับยอดติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ และวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.05% สู่ระดับ 96.6559 เมื่อคืนนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1297 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1296 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2625 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2620 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6946 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6964 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.93 เยน จากระดับ 107.20 เยน แต่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9415 ฟรังก์ จากระดับ 0.9400 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3589 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3580 ดอลลาร์แคนาดา