“ศักดิ์สยาม” คุยญี่ปุ่นพอใจ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-EEC คืบตามเป้า
"ศักดิ์สยาม" คุยญี่ปุ่นพอใจ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-พัฒนาพื้นที่ EEC คืบตามเป้า
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และคณะ เข้าพบ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง
โดยระบุว่า ญี่ปุ่นได้สอบถามถึงความคืบหน้า โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (Road Safety) และการยกระดับความร่วมมือด้านขนส่งและโลจิสติกส์
โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 3 โครงการ ที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุน ประกอบด้วย โครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ที่ขณะนี้การส่งมอบพื้นที่งานก่อสร้างให้เอกชนเข้ามาดำเนินงานเป็นไปตามกรอบเวลาโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามกับเอกชนผู้ชนะการประมูลเรียบร้อยแล้วและ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างตกลงราคากับผู้ประมูล โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปอย่างช้าในเดือนส.ค.นี้
ทั้งนี้ ทางญี่ปุ่นแสดงความพอใจภาพการดำเนินนโยบายพัฒนาพื้นที่ EEC ของไทยสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงโดยรัฐบาลไทยยืนยันว่าจะสามารถเปิดให้บริการโครงการต่างๆ ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาครัฐและนักลงทุนของญี่ปุ่น และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้แจ้งให้ญี่ปุ่นทราบถึงนโยบายของรัฐบาลไทยในการขยายพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) วางแผน
ในส่วนของของกระทรวงคมนาคม ยังได้ดำเนินนโยบายแผนแม่บท โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ กับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะทางกว่า 6,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ (MR-MAP) เพื่อเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีการศึกษาออกแบบ ในปี 2564 รวมถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกอ่าวไทยและอันดามันเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ทางญี่ปุ่นพร้อมที่จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยีระบบอุโมงค์ที่จะเชื่อมต่อทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของไทย ซึ่งญี่ปุ่นนั้นมีเทคโนโลยีที่จะช่วยประหยัดงบประมาณ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อทำการศึกษาต่อไป รวมถึงการศึกษานำระบบ Big Data มาใช้ในระบบขนส่งทางราง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล
ส่วนโครงการอสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ ไจก้า นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ขณะนี้มีความล่าช้า ซึ่งได้ชี้แจงต่อญี่ปุ่นถึงปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเป็น PPP เพื่อลดภาระงบประมาณจากภาครัฐ
โดยจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการก่อสร้าง สายสีแดงส่วนต่อขยายและบริหารสถานีบางซื่อ เพราะการดำเนินการรูปแบบเดิมจะขาดทุนใน 7 ปีแรก ดังนั้นงบประมาณรัฐจำกัด มีเรื่องโควิด ก็ต้องหาแนวทางที่คุ้มค่าและหาเงินคืนไจก้าโดยเร็วที่สุด
สำหรับการเดินทางระหว่างไทย- ญี่ปุ่น ทั้งทางอากาศและทางน้ำนั้น ทางไทยจะยังคงเน้นใช้มาตรการการด้านสาธารณสุขของไทยอย่างเข้มงวดในการคัดกรองบุคคล ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศได้มีการเจรจากัน โดยภายในสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนถึงมาตรการผ่อนปรนการในการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งประเทศไทย นั้นถือว่ามาตรการในการป้องกันโควิดที่ดี เป็นอันดับ 2 ของโลก และได้รับการคาดหมายจากองค์กรระหว่างประเทศว่า ไทยจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก
“ก่อนหน้านี้ ได้พบกับทางหอการค้าของญี่ปุ่นแล้ว และขณะนี้ว่า ไม่เฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในประเทศไทยต้องการเดินทางเท่านั้น แต่นักลงทุนจากหลายประเทศ ต้องการเดินทางลงทุนเช่นกัน ซึ่งมีการทำเรื่องที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่ไทยกำหนด ซึ่งท่านทูตญี่ปุ่นยืนยันว่า นักลงทุนของญี่ปุ่นที่จะเข้ามาไทย จะมีการตรวจสุขภาพจากต้นทางที่ญี่ปุ่น มีการจัดซื้อประกันวงเงิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ และเมื่อเข้ามาถึงไทย ก็ต้องรับการตรวจเชื้ออีก ซึ่งหากพบเชื้อ จะทำไห้ไม่ต้องกระทบการเงินของไทย ซึ่งหากเงื่อนไขที่จะทำกับญี่ปุ่นเป็นผลดี จะสามารถนำไปใช้เป็นข้อตกลงกับประเทศอื่นๆ ต่อไป” รมว.คมนาคม ระบุ