ตลาดตราสารหนี้สีเขียว
การออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่า 2,000 ล้านบาท (อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี)ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อนำไปใช้ลงทุนโครงการเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและลดภาวะโลกร้อน เพื่อดูแลป่าระยะยาว และศูนย์เรียนรู้ของสถาบันปลูกป่า และระบบนิเวศปตท.
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
การออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่า 2,000 ล้านบาท (อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี)ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อนำไปใช้ลงทุนโครงการเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและลดภาวะโลกร้อน เพื่อดูแลป่าระยะยาว และศูนย์เรียนรู้ของสถาบันปลูกป่า และระบบนิเวศปตท.
ถือเป็นการต่อยอดพัฒนาการ “ตลาดตราสารหนี้สีเขียว” ของไทย โดยปี 2562 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 33,000 ล้านบาท หลังจากตลาดตราสารหนี้ประเภทนี้ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยช่วงปี 2561 มีบริษัทไทยหลายแห่งเริ่มออก Green Bond มากขึ้น อาทิ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ออก Green Bond เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในไทย โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้าลงทุนมูลค่า 5,000 ล้านบาท
ปีที่ผ่านมา บริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ออก Green Bond เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมหนุมาน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้าลงทุนมูลค่า 3,000 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 10,000 ล้านบาท สะท้อนว่าตลาดตราสารหนี้สีเขียวของไทยเติบโตและได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ข้อมูลจากก.ล.ต.ระบุว่า บริษัทไทยมีแผนออก Green Bond ช่วงปีนี้กว่า 10 แห่ง
นิยามของ Green Bond คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีเจตนาระดมทุนเพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจผ่านโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนพลังงานหมุนเวียน โครงการขนส่งสาธารณะด้วยพลังงานไฟฟ้า การรีไซเคิลขยะ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
สำหรับ Green Bond ฉบับแรกของโลกออกขายปี 2551 โดยธนาคารโลก (World Bank) เพื่อระดมทุนสนับสนุนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศต่าง ๆ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปี 2560 ผลจากรัฐบาลกว่า 195 ประเทศให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนนำไปสู่การลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทำให้ปลุกกระแสความนิยมจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น
โดยอยู่ภายใต้มาตรฐาน Green Bond Principles ที่เป็นไปตาม 4 ขั้นตอนหลัก 1) Use of Proceeds คือการกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินทุนจากการออกตราสารหนี้เพื่อโครงการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมเท่านั้น 2) Project Evaluation and selection คือการประเมินและคัดเลือกโครงการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม 3) Management of Proceeds คือการบริหารจัดการเงินทุนที่ได้รับจากการออกตราสารหนี้อย่างเหมาะสมและโปร่งใส 4) Reporting คือ ต้องจัดทำรายงานให้นักลงทุนทราบความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานจนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการ
มีความแตกต่างจาก Social Bond และ Sustainability Bond อย่างชัดเจน โดย Social Bond คือตราสารหนี้ที่มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต ผ่านโครงการผลิตน้ำดื่มที่สะอาด การพัฒนาระบบขนส่งและพลัง งาน การให้บริการสาธารณสุข การส่งเสริมการศึกษา เป็นต้น ส่วน Sustainability Bond คือ ตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อไปใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม
ตลาดตราสารหนี้สีเขียวโลก ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปี 2562 ที่ผ่านมา มีการออก Green Bond ทั่วโลก มูลค่ากว่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวเกือบ 50% แต่ในประเทศไทย ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก เหตุนักลงทุนอาจยังไม่มั่นใจผลตอบแทน และยังไม่เห็นการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักต่อการตัดสินใจลง แต่ Green Bond ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งต่อไป..!!