สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 ก.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 ก.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (22 ก.ค.) โดยดาวโจนส์ทำสถิติยืนที่เหนือระดับ 27,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนทำให้นักลงทุนแห่ซื้อหุ้นที่ปลอดภัยและสามารถต้านทานวัฎจักรทางเศรษฐกิจได้ดี (defensive stocks) เช่นหุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภคและกลุ่มสาธารณูปโภค ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเจรจาระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินราว 1 ล้านล้านดอลลาร์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,005.84 จุด เพิ่มขึ้น 165.44 จุด หรือ +0.62% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,276.02 จุด เพิ่มขึ้น 18.72 จุด หรือ +0.57% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,706.13 จุด เพิ่มขึ้น 25.77 จุด หรือ +0.24%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (22 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐ-จีน และยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.87% ปิดที่ 373.44 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,037.12 จุด ลดลง 67.16 จุด หรือ -1.32%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,104.25 จุด ลดลง 67.58 จุด หรือ -0.51% ขณะที่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,207.10 จุด ลดลง 62.63 จุด หรือ -1.00%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (22 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ร่วงลงตามราคาน้ำมันดิบ และหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ปรับตัวลงด้วย หลังจากตลาดไม่แน่ใจเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการอนุมัติใช้วัคซีนต้านโรคโควิด-19
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,207.10 จุด ลดลง 62.63 จุด หรือ -1.00%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (22 ก.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่พุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์และความหวังเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ช่วยสกัดแรงขายในตลาด และทำให้สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงไม่มากนัก
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 2 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 41.90 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 3 เซนต์ หรือ 0.07% ปิดที่ 44.29 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 ปีเมื่อคืนนี้ (22 ก.ค.) เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. พุ่งขึ้น 21.2 ดอลลาร์ หรือ 1.15% ปิดที่ 1,865.1 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2554
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.587 ดอลลาร์ หรือ 7.36% ปิดที่ 23.144 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 38.5 ดอลลาร์ หรือ 4.19% ปิดที่ 957.4 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 40.80 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 2,229 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและทั่วโลก
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.14% สู่ระดับ 94.9851 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9297 ฟรังก์ จากระดับ 0.9327 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3414 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3438 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 107.23 เยน จากระดับ 106.78 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1569 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1530 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2739 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2755 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7141 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7145 ดอลลาร์สหรัฐ