เงินฝากท่วมแบงก์
5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2563
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2563
ยอดเงินในระบบ “ธนาคารพาณิชย์” เพิ่มขึ้นมากกว่า 6 แสนล้านบาท
เงินฝากจำนวนนี้ เป็นส่วนของบัญชีออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นถึง 16% ทำให้มาอยู่ที่ 5.1 ล้านล้านบาท ขยับสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์สูงขึ้นเป็น 63% จาก 59% (เมื่อเทียบกับเงินฝากทุกประเภท) ณ สิ้นปี 2562
ส่วนเงินฝากประจำมีสัดส่วนลดลงเหลือ 36%
ไม่เพียงเท่านั้นนะ
เพราะหากดูเงินฝากทุกประเภท จะพบว่า ยังมีอัตราเร่งตัว
อย่างเงินฝากบุคคลธรรมดา (รวมทุกประเภท) เพิ่มจาก 7.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2562
กลับมาเพิ่มเป็น 8.1 ล้านล้านบาท ณ เดือนพ.ค. 63 หรือเพิ่มขึ้นถึง 8.3%
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากนำเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นดังกล่าวไปเทียบกับปี 2560–2562 ก็จะพบว่า ในช่วงระหว่างปีดังกล่าว เงินฝากเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (ต่อปี) 4% เท่านั้น
การเร่งตัวของเงินฝาก ถือว่าสวนกับทิศทางดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับลดลง
ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีนี้
แนวโน้มดอกเบี้ยยังคงเป็นขาลง จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่บอกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก 1 ครั้ง หรือราว ๆ 0.25% (คงเหลือ 0.25%)
ณ ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ย ณ เดือนมิ.ย. 63 อยู่ที่ 0.25%
และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ย ณ เดือนมิ.ย. 63 อยู่ที่ 0.44%
หาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก
แน่นอนว่าดอกเบี้ยทั้งออมทรัพย์ และฝากประจำจะถูกกดลงมาค่อนข้างแน่นอน
คำถามคือ เมื่อดอกเบี้ยเป็น “ขาลง” เช่นปัจจุบัน
แล้วทำไมเงินยังไหลเข้าสู่ระบบการฝากเงินกับธนาคารมากขึ้น
คำตอบ คือ ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ยังไงคนก็ยังให้ความสำคัญเรื่องของ “ความปลอดภัย” มากกว่า “ผลตอบแทน”
TMB Analytics เขาออกมาวิเคราะห์กรณีดังกล่าวไว้
นั่นคือ คนฝากเงินจะให้น้ำหนักเรื่อง “สภาพคล่อง”
และรับ “ความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ” หรือมีความรู้สึก “อุ่นใจ” ที่เก็บเงินสดไว้
ประกอบกับ ยังมีความมั่นใจจากการได้รับความคุ้มครองเงินฝากในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
นั่นเท่ากับว่าการออมโดยฝากเงินกับธนาคารก็ยัง “ตอบโจทย์” กับคนฝากเงิน (ผู้ออม) ได้ดี
ก่อนหน้านี้ มีการวิเคราะห์กันว่า เมื่อดอกเบี้ยถูกปรับลง ก็น่าจะทำให้ เกิดการโยกย้ายเงินจากตลาดเงิน (เช่น เงินฝากธนาคาร) มาเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ และตราสารทุน หรือตลาดหุ้นมากขึ้น
ทว่า กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เงินสดยังคือ “คำตอบ” หรือคือ “พระเจ้า” ในมุมมองของคนที่ยังมีแนวคิดแบบอนุรักษนิยม
แม้ผู้จัดการกองทุนหลายคนจะบอกว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง”
แต่ “การไม่ลงทุน” ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะลงทุนด้านไหน ต่างมีความเสี่ยง
ในที่สุดแล้วคนก็ยังเลือกแนวทางที่มีความเสี่ยงต่ำสุด แม้จะได้ผลตอบแทนอันน้อยนิด (หรือแทบไม่ได้อะไรเลย) ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่อย่างปัจจุบัน
ภาวการณ์แบบนี้คนเป็นนายแบงก์อาจไม่ค่อยชอบเท่าไหร่
เพราะต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น จากสินเชื่อที่ปล่อยออกค่อนข้างยาก จากความเสี่ยงที่มากขึ้น
บรรดาผู้จัดการกองทุน ต่างพยายามนำเสนอกองทุนตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก และมีความเสี่ยงต่ำ ให้กับกลุ่มคนที่มีเงินฝากในระบบธนาคาร
หรือนำเสนอกองทุนประเภทต่าง ๆ ที่แบ่งไปตามความเสี่ยง เช่น เสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงมาก
มีข้อมูลจาก TMB Analytics เพิ่มเติม
TMB Analytics ได้แนะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ของภาครัฐที่มีความเสี่ยงต่ำ
สินทรัพย์เหล่านั้น เช่น พันธบัตรรัฐบาล ให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับเงินฝาก
พันธบัตรรัฐบาล 1 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 0.5% และพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี อยู่ที่ 0.87%
แนวทางนี้ น่าจะเป็นทางเลือกตอบโจทย์คนฝากเงิน (ผู้ออมเงิน) ที่เน้นสภาพคล่องสูง และระดับความเสี่ยงต่ำที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเงินฝาก