“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ก.ค. เทียบเดือนก่อน ดีขึ้น 0.66% หลังคลายล็อกกิจกรรมทางศก.
“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ก.ค. เทียบเดือนก่อน ดีขึ้น 0.66% หลังคลายล็อกกิจกรรมทางศก.
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อ ในเดือน ก.ค. 63 ว่า อยู่ที่ 101.99 หดตัว -0.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากตลาดคาดว่าจะหดตัว -1.49% แต่เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.63 ขยายตัว 0.66%
ขณะที่ CPI ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) เฉลี่ยหดตัว -1.11%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.ค.63 อยู่ที่ 102.92 กลับมาขยายตัว 0.39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.41% จากเดือน มิ.ย. 63
ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค.-ก.ค.) Core CPI เฉลี่ยยังเป็นบวก 0.34%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.63 อยู่ที่ -0.98% ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง -1.57% โดยมีสาเหตุสำคัญจาก 1.ราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว ส่งผลให้อัตราการหดตัวของราคาพลังงานในเดือนนี้ลดลง 2.ราคาอาหารสดกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือน จากความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการเปิดภาคเรียน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ 3.มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ เช่น ค่าประปา ค่าไฟฟ้า ได้สิ้นสุดลง และ 4.การจัดโปรโมชั่นด้านราคาสินค้าของผู้ประกอบการเริ่มน้อยลง โดยเฉพาะหมวดอาหารบริโภคนอกบ้าน
สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 105.79 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.50% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.55% ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 99.86 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.76% แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -1.87%
“ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม, ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์, ดัชนีราคาผู้ผลิต, ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ซึ่งปัจจัยด้านอุปสงค์ในประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญของการที่เงินเฟ้อเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก มองแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.63 ว่า จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น มาตรการภาครัฐที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และราคาพลังงานที่เริ่มทรงตัว คาดว่าจะทำให้เงินเฟ้อในเดือน ส.ค.มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี การระบาดของไวรัสโควิดระลอกสอง ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นปัจจัยที่ไม่อาจไว้วางใจได้ และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
“กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีนี้ไว้ที่ -1.5 ถึง -0.7% ซึ่งขณะนี้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนอยู่ที่ค่ากลางพอดีที่ -1.1% เชื่อว่าเงินเฟ้อทั้งปีคงอยู่ในแดนลบแน่นอน แต่แม้จะเป็นลบ ก็ไม่เข้าเงื่อนไขครบทั้งหมดของเงินฝืด” น.ส.พิมพ์ชนก ระบุ
ทั้งนี้ เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปีนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานดังนี้ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ -8.6 ถึง -7.6% ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยทั้งปีที่ 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ระดับ 30.50-32.50 บาท/เหรียญสหรัฐ