“ไทยไลอ้อนแอร์” ยันตรวจสอบเครื่องบินสม่ำเสมอ มั่นใจความปลอดภัยทุกลำ

“ไทยไลอ้อนแอร์” ยันตรวจสอบเครื่องบินสม่ำเสมอ มั่นใจความปลอดภัยทุกลำ หลัง FAA ออกจม.เตือนให้สายการบินตรวจวาล์วควบคุมแรงดันเครื่องบิน Boeing 737


สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ ชี้แจงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า Federal Aviation Administration (FAA) ออกเอกสารเกี่ยวกับ Airworthiness Directive (AD) ให้กับสายการบินที่ใช้เครื่องบิน Boeing 737 ให้ตรวจวาล์วควบคุมแรงดันที่ออกจากคอมเพรสเซอร์ลำดับที่ 5 ของเครื่องยนต์ที่จอดพักมาติดต่อกันมากกว่า 7 วัน และเครื่องที่ปฏิบัติการบินมาน้อยกว่า 10 รอบเที่ยวบินหลังจากที่จอดพักระยะยาว

สาเหตุเพราะหลังจากที่เครื่องบินจอดติดต่อกันเป็นเวลานาน ตัววาล์วอาจจะมีสนิมทำให้การเปิดปิดได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ก่อนปฏิบัติการบิน FAA จึงต้องการให้สายการบินตรวจว่าวาล์วนี้ยังทำงานเป็นปกติหรือไม่

ทั้งนี้ ไทยไลอ้อน แอร์ ได้เริ่มกลับมาบินตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ซึ่งปฏิบัติการบินโดยไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เครื่องบินได้ปฏิบัติการบินมาเกิน 10 รอบเที่ยวบินแล้วก่อนที่ FAA ได้ออกจดหมายดังกล่าวลงวันที่ 23 ก.ค.และทางตัวแทนบริษัทผู้ผลิต (Boeing Technical Representative) ที่ทำงานประสานกันสรุปแล้วว่าเครื่องบินของ ไทย ไลอ้อน แอร์ สามารถปฏิบัติการบินได้ตามปกติ ไม่มีผลกระทบตามเอกสารทางเทคนิคนี้แต่อย่างใด

ส่วนข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมานั้นมีผลบังคับใช้กับเครื่องบินทุกลำที่ระบุถึง กล่าวคือ ถ้าเป็นเครื่องบินตระกูล Boeing หลังจาก NTSB สืบสวบทราบสาเหตุแล้วก็จะส่งเรื่องต่อให้ FAA จากนั้น FAA ก็จะเป็นผู้ออกข้อบังคับเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เดิมนั้นเกิดขึ้นอีก โดยข้อบังคับนั้นอาจจะระบุเฉพาะเครื่องบินรุ่นที่เกิดอุบัติเหตุ หรืออาจจะรวมไปถึงเครื่องบินโบอิ้งรุ่นอื่นๆอีกด้วย ทั้งนี้แล้วแต่ดุลยพินิจของ FAA และถ้าเป็นเครื่องบินตระกูลแอร์บัสก็จะมี BEA เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวน แล้วส่งเรื่องต่อให้กับ EASA หลังจากนั้นทาง EASA ก็จะเป็นผู้ออกข้อบังคับเช่นเดียวกับ FAA โดยเรียกว่า Airworthiness Directive (AD)

ทั้งนี้ FAA กับ EASA ในบางครั้งอาจจะมีการออกข้อบังคับตามกัน เช่นข้อบังคับในบางเรื่องที่ FAA ออกมาบางครั้ง EASA ก็อาจจะออกข้อบังคับในเรื่องเดียวกัน ในทางตรงกันข้ามบางครั้ง FAA ก็ออกข้อบังคับตาม EASA แล้วแต่สถานการณ์ ส่วนสายการบินในเมืองไทยรวมทั้งสายการบินอื่นๆทั่วโลกนั้น มีหน้าที่ต้องทำการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง ตามข้อกำหนด AD ที่ FAA หรือ EASA ประกาศออกมา

สำหรับสายการบินในประเทศไทยนั้น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(CAAT) จะเป็นผู้ตรวจสอบอีกครั้งว่าสายการบินได้ปฏิบัติตามรายการครบทั้งหมดหรือไม่ ถ้าไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติตามไม่ครบถ้วน ทาง CAAT จะไม่ต่อใบอนุญาตสมควรเดินอากาศให้ได้

ในกรณีดังกล่าวตามที่เป็นข่าวออกมานั้น ไม่มีผลบังคับใช้กับสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์แต่อย่างใด เพราะปัจจุบันเครื่องบินไม่ได้จอดพัก และนำออกมาใช้งานทุกลำ ส่วนที่เคยจอดพักนานเกิน 7 วันนั้นทาง FAA ให้ตรวจสอบและติดตามทั้ง 10 เที่ยวบิน ซึ่งมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย ปัจจุบันเครื่องบินของสายการบินได้ปฏิบัติการบินเกินกว่านั้นมากแล้ว ยืนยันได้ว่าอุปกรณ์ทั้งหมดทำงานอย่างปกติ

 

Back to top button