โอกาสหุ้นอินฟราสตรักเจอร์

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับบริษัทจดทะเบียน ด้วยการยกเลิกเกณฑ์รับหุ้นสามัญด้วยมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market Capitalization) แต่เพิ่มเกณฑ์รับหุ้นสามัญสำหรับบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (Infrastructure Company) ที่มีมูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เริ่มมีผลตั้งแต่ 17 ส.ค. 63 เป็นต้นไป


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับบริษัทจดทะเบียน ด้วยการยกเลิกเกณฑ์รับหุ้นสามัญด้วยมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market Capitalization) แต่เพิ่มเกณฑ์รับหุ้นสามัญสำหรับบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (Infrastructure Company) ที่มีมูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เริ่มมีผลตั้งแต่ 17 ส.ค. 63 เป็นต้นไป

นิยาม “หุ้นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน” ที่ว่าด้วยหุ้นที่เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างหรือระบบให้บริการ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม คือ ระบบผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้า, ระบบการประปา ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบการส่งน้ำหรือการชลประทาน, ระบบขนส่งภาคพื้นดินเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง ท่าเรือ สนามบิน, ระบบสื่อสารโทรคมนาคม, ระบบควบคุมและป้องกันมลภาวะ, ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ รวมถึงระบบเตือนภัยและระบบการจัดการเพื่อลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติ, พลังงานทางเลือก (ตามเงื่อนไขว่าด้วยการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน)

หลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว ทำให้บริษัทขนาดเล็ก สามารถระดมทุนได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้มีผลประกอบการ 3 ปี หรือมีกำไร เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ลงทุนกับกิจการ, ลดความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัท สร้างความน่าเชื่อถือในการบริหารจัดการกิจการโครงสร้างพื้นฐาน, เป็นการสนับสนุนโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อผลตอบแทนในอนาคต

ในแง่ “บริษัทจดทะเบียน” ตลาด mai คือ แหล่งเงินทุนระยะยาวที่ปราศจากภาระดอกเบี้ย, การเพิ่มช่องทางระดมทุนเพื่อช่วยในการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ, การเสริมสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท, สร้างความภักดี และผลตอบแทนที่ดีให้แก่พนักงาน, การสร้างความรับผิดชอบและการบริหารงานแบบมืออาชีพ และการดำรงอยู่ของธุรกิจในระยะยาว

สำหรับ “ผู้ถือหุ้น” นั่นคือการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ถือหุ้น มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ที่ถือไว้เป็นเงินสดได้ง่ายและสะดวก, การลดภาระค้ำประกันของผู้ถือหุ้นและกรรมการ ผู้ถือหุ้นสามารถนำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้หรือเพื่อใช้ลดการค้ำประกันการกู้ยืมเงินที่ทำไว้ก่อนการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนและเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ได้ และการได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหุ้นด้วยเช่นกัน

การปฏิรูปกฎเกณฑ์ (Regulatory Reform) ครั้งนี้ มีโอกาสทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องเข้าจดทะเบียนในตลาด mai มากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก เนื่องจากที่ผ่านมา เกณฑ์ดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะการรับเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ทำให้ปิดโอกาสของบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ในการใช้ประโยชน์จากใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (Infrastructure Company) เพื่อการต่อยอดการลงทุน

นั่นจึงทำให้หลายบริษัทจึงเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนสูง จนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน หรือไม่เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนด้วยตนเอง ทางเลือกสุดท้ายหนีไม่พ้นการขายใบอนุญาตหรือการถูกเทกโอเวอร์ไปในที่สุด

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการปฏิรูปเกณฑ์ใหม่ครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ความชัดเจนของนโยบายรัฐเรื่องการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หลายครั้งที่ผ่านมาไม่เกิดการสานต่อนโยบายอย่างแท้จริง ที่เห็นเฉพาะหน้าตอนนี้คือ “โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก” โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชุมชนแบบเร่งด่วน (Quick win) จำนวน 100 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชุมชนแบบทั่วไป จำนวน 600 เมกะวัตต์ มาถึงวันนี้ยังไร้ความชัดเจน..!!!

ด้วยความที่ “หุ้นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน” ผูกติดกับเงื่อนไขนโยบายภาครัฐ ดังนั้นหากนโยบายรัฐไม่ชัดเจน จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า การปฏิรูปเกณฑ์เข้าตลาด mai ครั้งนี้ อาจเป็นเรื่อง “เสียเวลาเปล่า” หรือ “เสียของ” ไป เช่นเดียวกับนักลงทุนที่ต้อง “อารมณ์ค้าง” กันต่อไป

Back to top button