สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 ส.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 7 ส.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 6 ติดต่อกันเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) และดัชนี S&P500 ปิดขยับขึ้นเล็กน้อย โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดในเดือนก.ค. แต่ดัชนี Nasdaq ปิดลดลงโดยถูกกดดันจากการเจรจาที่ยังคงชะงักงันเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐรอบใหม่
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,433.48 จุด เพิ่มขึ้น 46.50 จุด หรือ +0.17% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,351.28 จุด เพิ่มขึ้น 2.12 จุด หรือ +0.06% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,010.98 จุด ลดลง 97.09 จุด หรือ -0.87%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.เพิ่มขึ้นเกินคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 นอกจากนี้ การเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปช่วยหนุนตลาดด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.29% ปิดที่ 363.55 จุด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,032.18 จุด เพิ่มขึ้น 5.24 จุด หรือ +0.09%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,674.88 จุด เพิ่มขึ้น 83.20 จุด หรือ +0.66% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,889.52 จุด เพิ่มขึ้น 4.39 จุด หรือ +0.09%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งของอังกฤษเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากความหวังที่เพิ่มขึ้นว่า อังกฤษจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป (EU)
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,032.18 จุด เพิ่มขึ้น 5.24 จุด หรือ +0.09%% และปรับตัวขึ้น 2.3% ในรอบสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกมากขึ้นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และการกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 73 เซนต์ หรือ 1.7% ปิดที่ 41.22 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เพิ่มขึ้น 2.4% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 69 เซนต์ หรือ 1.5% ปิดที่ 44.40 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่เพิ่มขึ้น 2% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) โดยปรับตัวลงเป็นครั้งแรกหลังบวกต่อเนื่อง 5 วันติดต่อกัน เนื่องจากนักลงทุนขายสัญญาทองออกมา หลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ซึ่งลดความน่าสนใจของทองเพราะทำให้ราคาทองแพงขึ้นสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่นๆ ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดได้ลดความน่าสนใจของทองในฐานะที่เป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยด้วย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 41.4 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 2,028 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองปรับตัวขึ้น 2.1%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 86 เซนต์ หรือ 3.03% ปิดที่ 27.54 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 43.5 ดอลลาร์ หรือ 4.29% ปิดที่ 970.4 ดอลลาร์/ออนซ์
ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 82.80 ดอลลาร์ หรือ 3.7% ปิดที่ 2,176.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (7 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนก.ค.
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.68% สู่ระดับ 93.4360 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.94 เยน จากระดับ 105.57 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9133 ฟรังก์ จากระดับ 0.9103 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3385 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3289 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1781 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1873 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าแตะที่ระดับ 1.3051 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3149 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าสู่ระดับ 0.7149 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7234 ดอลลาร์สหรัฐ