ETC ปลื้มนลท.แห่จอง IPO พร้อมกรีนชูเกลี้ยง 660 ล้านหุ้น ดีเดย์เทรด 18 ส.ค.นี้
ETC ปลื้มนลท.แห่จอง IPO พร้อมกรีนชูเกลี้ยง 660 ล้านหุ้น ดีเดย์เทรด 18 ส.ค.นี้
นายเอกรินทร์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ETC กล่าวว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่าน ทั้งผู้ถือหุ้นของ BWG ที่ได้สิทธิจองซื้อ นักลงทุนที่ให้ความสนใจใน ETC และได้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯจำนวนทั้งหมด 600 ล้านหุ้น และหุ้น Greenshoe อีก 60 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.60 บาท ทำให้บริษัทฯสามารถระดมทุนได้ 1,560,000,000 บาท เพื่อใช้ในการขยายกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่างๆ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและ ชำระคืนเงินกู้ โดยบริษัทฯมั่นใจว่า บริษัทฯ จะรักษาการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 40%
“ปีนี้ ETC จะรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าขยะครบทั้ง 3 แห่ง ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 16.50 เมกะวัตต์เป็นปีแรก ซึ่งคาดว่าจะ สร้างการเติบโตอย่างมีนัยยะ จากปีที่แล้วซึ่งรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเพียง 1 แห่งที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าขยะ RH และโรงไฟฟ้าขยะ AVA มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง 6.83 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น และ ทำให้บริษัทฯมีอัตรากำไรต่อเมกะวัตต์ค่อนข้างสูง
สำหรับแผนการขยายกิจการในอนาคตบริษัทฯได้ศึกษาและวางแผนทีจะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่างๆของภาครัฐ อาทิ เช่นครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะเปิดประมูลปลายปีนี้” นายเอกรินทร์กล่าวเสริม
ด้าน นายชัยพัชร์ นาคมณฑนาคุ้ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการการการจัดจำหน่ายโดยไม่รับประกันการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของ ETC กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเปิดจองหุ้นไอพีโอ ETC มีกระแสความสนใจอย่างสูงจากทั้งนักนักลงทุนทุกๆกลุ่ม และ เมื่อเปิดจองในวันที่ 5-11 สิงหาคมที่ผ่านมา หุ้นไอพีโอของ ETC จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการจองซื้อของนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนทั่วไปจะสามารถซื้อหุ้น ETC ในตลาดหลักทรัพย์ mai ตั้งแต่วันอังคารที่ 18 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเข้าซื้อขายวันแรก โดยเชื่อว่าสาเหตุที่หุ้น ETC ได้รับความสนใจอย่างสูงเนื่องจาก ETC มีจุดแข็งอย่างมากด้านเชื้อเพลิงขยะจากบริษัทฯแม่คือ กลุ่มเบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) เป็นผู้ประกอบการด้านกำจัดขยะอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
อีกทั้ง ETC มีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะที่ดี มีคณะผู้บริหารและทีมงานวิศวกรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีบริษัทย่อยเป็น บริษัทรับเหมาที่เชี่ยวชาญการสร้างโรงไฟฟ้าขยะแบบครบวงจร รวมถึงบริหารและดูแล ซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า (O&M) ให้มีประสิทธิภาพสูง จึงเป็นหุ้นโรงไฟฟ้าขยะสะอาดแบบครบวงจรตัวแรกของตลาดหุ้นไทย ที่มีอนาคตไกลมีผลประกอบการที่ดี มีอัตรากำไรสูง และมีแนวโน้มการเติบโตสูงจากการเตรียมเปิดประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงกว่า 444 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะได้รับความสนใจหุ้นของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างมาก
โดย ETC เป็น ผู้นำด้านโรงฟ้าขยะแบบครบ คือ มีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม 3 แห่งคือ ที่จังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา และพิจิตร รวมกำลังการผลิต 20.4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 16.5 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะเวลา 20 ปี โดย ETC เป็น บริษัทในกลุ่มเบตเตอร์เวิลด์ กรีน (BWG) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับบริหารกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีโรงงานผลิตขยะอัดแท่ง (RDF) ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 500,000 ตันต่อปี ทำให้ ETC มีความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง รวมถึงข้อได้เปรียบด้านคุณภาพ และต้นทุนเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ETC มีทุนจดทะเบียน 1,120 ล้านบาท และมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,240 ล้านหุ้น ด้วยมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น บริษัทฯ มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 – 2562 มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 184.10 ล้านบาท 325.24 ล้านบาท และ 362.39 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 3.14 ล้านบาท ในปี 2560 และมีกำไรสุทธิจำนวน 65.35 ล้านบาท และ 56.80 ล้านบาท ในปี 2561 – 2562 ตามลำดับ
โดยผลประกอบการเติบโตขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ มีการรับรู้รายได้ค่าไฟฟ้าเต็มปีจากโรงไฟฟ้า ETC ในปี 2561 และ 2562 ขณะที่ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 134.90 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 24.18 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิสูง 18%
นอกจากนี้ ETC คาดว่าจะรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าขยะ RH และ AVA เต็มระยะเวลาที่เหลือของปี ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งดังกล่าวมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT สูงถึง6.83บาทต่อหน่วยซึ่งเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมการใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปัญหาด้านปริมาณขยะของประเทศ