สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 ส.ค. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 ส.ค. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายหลังมีรายงานว่า การเจรจาเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐยังไม่มีความคืบหน้า นอกจากนี้ การร่วงลงอย่างหนักของราคาหุ้นซิสโก ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 30 หลักทรัพย์ที่ใช้คำนวณดัชนีดาวโจนส์ ยังเป็นอีกปัจจัยที่ฉุดดัชนีดาวโจนส์อ่อนแรงลง อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดในแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,896.72 จุด ลดลง 80.12 จุด หรือ -0.29% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,373.43 จุด ลดลง 6.92 จุด หรือ -0.20% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,042.50 จุด เพิ่มขึ้น 30.26 จุด หรือ+0.27%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากตลาดปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 4 วัน โดยหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงานฉุดตลาดลงมากที่สุด นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเทขายหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย XD ซึ่งงดการจ่ายเงินปันผลด้วย

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.63% ปิดที่ 372.53 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,993.71 จุด ลดลง 64.92 จุด หรือ -0.50%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,042.38 จุด ลดลง 30.93 จุด หรือ -0.61% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,185.62 จุด ลดลง 94.50 จุด หรือ -1.50%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) โดยปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 วัน เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการขายหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย XD ซึ่งผู้ซื้อหุ้นจะไม่ได้รับเงินปันผล และหุ้นของบริษัทที่รายงานผลประกอบการที่ย่ำแย่ ถ่วงตลาดลงด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,185.62 จุด ลดลง 94.50 จุด หรือ -1.50%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 43 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 42.24 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 47 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 44.96 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ภาวะชะงักงันในการเจรจาเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐที่นักลงทุนมองว่ายังอยู่ในระดับสูงมากนั้น ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ทองคำได้รับแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 21.4 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 1,970.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.739 ดอลลาร์ หรือ 6.69% ปิดที่ 27.718 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 23.8 ดอลลาร์ หรือ 2.48% ปิดที่ 983 ดอลลาร์/ออนซ์

ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 48.60 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 2,216.80 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.12% สู่ระดับ 93.3360 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9107 ฟรังก์ จากระดับ 0.9122 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3224 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3253 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 106.90 เยน จากระดับ 106.85 เยน

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1800 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1783 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3053 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3026 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7143 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7162 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button