ทางสองแพร่งหุ้นโรงไฟฟ้าชุมชน
จากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 ปรับลดลง 3.9% ทำให้ประเมินกันว่าปี 2563 ตัวเลขการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับลดลง 2.3% เทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา บนสมมติฐานจากตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ตัวเลขติดลบ 5-6% แต่หากตัวเลขติดลบ 9-10% ตามที่ประเมินกันไว้ นั่นหมายถึงตัวเลขการใช้ไฟฟ้าปีนี้มีโอกาสลดลงมากกว่า 3% ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกิดภาวะ “ไฟฟ้าล้นระบบ” ขึ้นทันที
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
จากตัวเลขการใช้ไฟฟ้าช่วง 6 เดือนแรกปี 2563 ปรับลดลง 3.9% ทำให้ประเมินกันว่าปี 2563 ตัวเลขการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับลดลง 2.3% เทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา บนสมมติฐานจากตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ตัวเลขติดลบ 5-6% แต่หากตัวเลขติดลบ 9-10% ตามที่ประเมินกันไว้ นั่นหมายถึงตัวเลขการใช้ไฟฟ้าปีนี้มีโอกาสลดลงมากกว่า 3% ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกิดภาวะ “ไฟฟ้าล้นระบบ” ขึ้นทันที
ปัจจุบันประเทศไทย มีกำลังผลิตไฟฟ้า 50,300 เมกะวัตต์ แต่มียอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ปีนี้ อยู่เพียงประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ นั่นจึงส่งผลให้มีปริมาณไฟฟ้าที่เหลือประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของความต้องการใช้โดยรวม
แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อาจเป็นไปได้ คือการดึงแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับมาปรับแก้ ก่อนนำกลับเข้าเสนอครม.ใหม่ หรืออีกแนวทางคือรอให้แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ผ่านความเห็นชอบไปก่อน แล้วจึงค่อยมาแก้ไขรายละเอียดให้สะท้อนและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด
ตามปกติแผน PDP มีกำหนดต้องปรับปรุงทุก 3-5 ปี โดยปี 2564 จะครบกำหนดที่ต้องปรับแผน PDP ดังนั้นเมื่อ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ผ่านครม.ได้ ต้องปรับแผนเพื่อให้ปริมาณไฟฟ้าประเทศอยู่ระดับเหมาะสม โดยอาจปรับแผนใหม่เป็น PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 หรือปรับใหม่เป็นแผน PDP2020 ก็ย่อมทำได้
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีไหน..ระหว่างการใช้ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ไปก่อน พร้อมกับการแก้ไขเพิ่มเติ่ม เพื่อไม่ให้โครงการต่าง ๆ ต้องหยุดชะงักหรือใช้โอกาสนี้นำ PDP2018 เพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าอย่างแท้จริง ก่อนนำเสนอครม.เพื่ออนุมัติใช้ต่อไป
จุดที่น่าสนใจของ PDP2018 ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 1 นั่นคือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 700 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จะต้องมีการปรับลดหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ เพราะหากดูจากตัวเลขการไฟฟ้าที่ผลิตเกินความต้องการดังกล่าว
ในทางทฤษฎี มีความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือการเดินหน้าตามแผน PDP2018 ฉบับปรุงแก้ไขครั้งที่ 1 โดยนำไฟฟ้าส่วนเกินไปจำหน่ายให้กับประเทศเพื่อนบ้านแทน แต่นั่นหมายถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกรับภาระการลงทุนโครงข่ายสายส่งจำนวนมหาศาลและสุ่มเสี่ยงต่อการ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ดั้งนั้นในทางปฏิบัติจึงมีโอกาสเป็นได้น้อยมาก
ปัญหาจึงกลับมาอยู่ที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะ “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ต่างหมายมั่นปั้นมือว่านี่คือ “โอกาส” (Opportunity) ในการสะสมกำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างการเติบโตของผลกำไรในอนาคต
แต่ความไม่ชัดเจนจากนโยบายดังกล่าว จึงกลายเป็น “อุปสรรค” (Threats) ทันที นั่นหมายถึง “จุดแข็ง” (Strength) ที่หลายบริษัทพึงมีอยู่หรือกำลังจะเกิดขึ้น กลับกลายเป็น “จุดอ่อน” (Weakness) ไปในที่สุด..!!
แหละนี่คือ “ทางสองแพร่ง” ที่หุ้นโรงไฟฟ้าชุมชนและนักลงทุนต้องเผชิญ แต่ทว่าจุดจบจะเป็นทางไหนเดี๋ยวคงได้รู้กัน..!!??